วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จับตา"วัณโรคช้าง"หวั่นลามสู่คน

วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11442 มติชนรายวัน


จับตา"วัณโรคช้าง"หวั่นลามสู่คน




เตรียมสุ่มตรวจปางช้างชื่อดัง ที่พระนครศรีอยุธยา นำร่องพร้อมเก็บสถิติทั่วประเทศ 1 ปีเฝ้าระวังโรค ชี้น่ากังวลเพราะไม่แสดงอาการชัด เตรียมอบรมควาญดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี

วันที่ 7 กรกฎาคม นายมนูญศักดิ์ ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เปิดเผยว่า หลังจากมีการส่งทีมสัตวแพทย์ เข้าตระเวนตรวจสุขภาพช้างตามปางช้างต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่าช้างป่วยเป็นโรคหลายโรค เช่น พยาธิ ท้องเสีย คอบวม ที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มที่ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าก็ คือวัณโรค ซึ่งพบมากในปางช้างที่อยู่ในพื้นที่มีอากาศชื้นมาก โดยเฉพาะพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากช้างที่เจ็บป่วยจะไม่แสดงอาการของโรคชัดเจน และวินิจฉัยยากมาก สัตวแพทย์ต้องนำเอาน้ำมูก นำลายไปตรวจสอบ หาเชื้อในห้องปฏิบัติการจึงจะเจอเชื้อ

นายมนูญศักดิ์กล่าวว่า วัณโรคในช้าง เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ ช้างมักจะได้รับเชื้อโรคนี้ผ่านทางงวง หลอดลม และปอด โรคนี้สามารถแพร่จากคนไปสู่ช้าง จากช้างมาสู่คนได้ด้วย และยังแพร่จากช้างสู่ช้างได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือควาญช้าง และสัตวแพทย์ที่ต้องดูแลรักษา ชันสูตรโรคช้าง เพราะบางตัวกว่าจะแสดงอาการใช้เวลา 1-2 ปี ดังนั้น ขอให้เจ้าของช้างสังเกตอาการเบื้องต้นหากพบว่าช้างมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ผอม ก็ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อนำสารคัดหลั่งไปตรวจ

"ปัจจุบันสภาพความเป็นอยู่ของช้างอยู่ในปางช้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีสุขลักษณะที่ดี บางแห่งเหมือนกับอยู่ในสลัม ทำให้ช้างเกิดความเครียด ป่วยเป็นโรค และมีแนวโน้มการพัฒนาของโรคนี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีปางช้างขาดใหญ่ 50 แห่ง และขนาดย่อยอีก 100 กว่าแห่ง โดย อ.อ.ป.เตรียมจะออกสุ่มตัวอย่างไปตรวจปางช้างที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแห่งแรก เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีช้างจำนวนมากอยู่ที่นั่น" นายมนูญศักดิ์กล่าว

น.สพ.สิทธิเดช มหาสาวังกุล สัตวแพทย์ฝ่ายโรงพยาบาลช้าง โครงการอนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง กล่าวว่า จากข้อมูลการรักษาการบาดเจ็บของช้างที่เข้ารักษา 90% มีปัญหาสุขภาพและเกิดจากการกระทำของคนเป็นส่วนใหญ่ เช่น บาดแผลที่เกิดจากการทำงาน การกินสารเคมี ส่วนหนึ่งเกิดจากควาญช้างไม่รู้วิธีการดูแลช้างอย่างถูกวิธี ทำให้อาการที่ช้างบาดเจ็บจากการทำงานลุกลามมากขึ้น ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลช้าง ได้อบรมควาญช้างให้รู้จักการพยาบาลช้างเบื้องต้น เช่น กรณีช้างตาแดง เดิมหมอช้างจะใช้เปลือกหอยป่นแก้ช้างตาแดง ซึ่งแทนที่จะทำให้หายก็อาจทำให้ช้างตาบอดได้ หรือบางเชือกไปเหยียบตะปู แทนที่เจ้าของจะใช้ทิงเจอร์ราดแต่ก็ไม่ทำ ในที่สุด ช้างก็เสียขาจากบาดทะยักไป จากการอบรมให้ดูแลสุขภาพช้าง ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ได้รับการตอบรับที่ดีควาญช้างจะรู้จักการดูแลช้างดีขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคตยังเตรียมทำพันธุกรรมช้าง แยกแยะระหว่างช้างป่าและช้างบ้าน เพื่อช่วยให้แก้ปัญหาช้างทั้งระบบ แต่นโยบายรัฐต้องชัดเจนเรื่องการขึ้นทะเบียนช้างป่าและช้างบ้านก่อน


หน้า 10
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01lif01080752&sectionid=0132&day=2009-07-08

ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com




Make the most of what you can do on your PC and the Web, just the way you want. Windows Live