วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

'เศร้า' สวนทางแพนด้า 'ชะตาช้างไทย' เคราะห์ซ้ำๆ กรรมใคร?

วันที่ 4 มิถุนายน 2552 เวลา 00:00
 น. 
'เศร้า' สวนทางแพนด้า 'ชะตาช้างไทย' เคราะห์ซ้ำๆ กรรมใคร?
เมืองไทยระยะนี้มีข่าวลูกหมีแพนด้าตกลูกในไทยออกมาให้คนไทยที่รักสัตว์ได้ อมยิ้ม-ได้ดีใจกัน แต่ก็น่าเสียดายที่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคนรักสัตว์ก็ต้องน้ำตาซึม-เศร้าใจ กับข่าวเกี่ยวกับสัตว์ของไทยเองแท้ ๆ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างชาติ-การดำรงความเป็นชาติไทยมาแต่โบราณกาล และก็เป็นข่าวเศร้าที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ
 
"ช้างไทย" ยุคปัจจุบันต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายซ้ำ ๆ
 
มีทั้งกรณีถูกฆ่าเอางา-ชิงลูก...มีทั้งบาดเจ็บ-ล้มตาย...ซ้ำ ๆ
 
ทั้งนี้ กับเรื่อง "ช้างไทย" ในภาพรวม ไม่เฉพาะเจาะจงกรณีช้างตายเพราะกินยาฆ่าแมลง ถูกใช้งานหนัก พลัดตกเขา หรือช้างบาด เจ็บเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ระหว่างถูกขนย้าย ที่มีข่าวเกิดขึ้นติด ๆ กันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ต่อให้ไม่เกิดกรณีทำนองนี้ขึ้นซ้ำ ๆ อีก ว่ากันเฉพาะที่เคยเกิดแล้วในอดีต ซึ่งมีอีกหลากหลายกรณีน่าเศร้า เช่น ช้างเหยียบกับระเบิด ถูกรถชน ตกคลอง ตกท่อ ฯลฯ ก็ต้องถือว่าช้างไทย "น่าห่วงมาก" อยู่แล้ว
 
จากข้อมูลของมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ปัจจุบันชนิดของช้างที่เหลืออยู่ในโลก มี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ ช้างแอฟริกา และ ช้างเอเชีย ทั้งนี้ ช้างในไทยนั้นเป็นช้างเอเชียพันธุ์ย่อยอินเดีย โดยที่เป็น "ช้างป่า" ที่เรียกเป็น "ตัว" นั้น พบได้ตามอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่แหล่งที่พบได้ไม่ยากนั้นก็มีไม่กี่แห่งแล้ว
 
ด้านข้อมูลจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ "ช้างไทย" เป็นหนึ่งในสามสายพันธุ์ย่อยของช้างเอเชีย ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "สัตว์ป่าชนิดที่ถูกคุกคาม มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์" และถูกจัดให้อยู่ในบัญชีแนบท้าย อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญ พันธุ์ หรือไซเตส หมายเลข 1 ซึ่งหมายถึง "ห้ามมีการค้าขายช้างหรือซากช้าง" ระหว่างประเทศสมาชิกอนุสัญญา อย่างเข้มงวด
 
อย่างไรก็ตาม ในไทยยังมีช้างไทยในส่วนที่เป็น "ช้างบ้าน" หรือ "ช้างเลี้ยง" ที่เรียกเป็น "เชือก" ด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ ที่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ทำให้มีสถานะเดียวกับวัว ควาย ม้า ลา ล่อ
 
"ช้างป่า" ถูกคนลักลอบล่าเอางา ลูกช้าง อวัยวะเพศ
 
"ช้างบ้าน" ถูกคนใช้เพื่อหาประโยชน์อย่างไม่เหมาะสม
 
"ช้างป่าถูกปลอมเป็นช้างบ้าน" ก็มีมานานและยังมีอยู่ !!!
 
ประมาณว่าในประเทศไทยยังมีช้างป่าเหลืออยู่ราว 2,000 ตัว (ข้อมูลบางแหล่งประมาณว่ามีเพียง 1,000-1,500 ตัว) และมีช้างบ้านอีกประมาณ 3,000 เชือก รวมแล้วก็ประมาณ 5,000 ชีวิต ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นเพียงการประมาณ ตัวเลขที่ชัดเจนยังยากจะระบุ...ว่าช้างไทยเหลืออยู่เท่าไหร่แน่ ??
 
"ตัวเลข 5,000 อาจจะดูไม่น้อย แต่ก็นับว่าไม่ได้มากมายแต่ อย่างใด เมื่อช้างเหล่านี้ยังมีภัยคุกคามทำให้ต้องบาดเจ็บล้มตายลงไปใน ทุก ๆ ปี อย่างน้อยปีละ 2% และตราบใดที่ภัยคุกคามเหล่านี้ยังไม่ได้รับ การแก้ไข อนาคตของช้างในเมืองไทยก็คงจะมืดมนลงไปเรื่อย ๆ" ...เป็นการระบุ และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดกลุ่มคนรวมตัวกันเป็นมูลนิธิคนรักช้าง  ซึ่งปัจจุบันคือมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย
 
ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันคชบาลฯ ก็ระบุว่า... "สถานภาพช้างไทยในวันนี้น่าวิตก เมื่อพิจารณาจากสถิติการลดจำนวนลงของช้าง ทำให้นักวิชาการคาดการณ์กันว่าถ้าไม่รีบลงมือแก้ไข อีกไม่เกิน 50 ปี ช้างไทยอาจ เหลือเพียงตำนาน" ซึ่งสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เป็นตัวจักรหนึ่งในการแก้ปัญหาที่เกิดกับช้างไทย
 
อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมอันเลวร้ายที่เกิดกับช้างไทยนั้นรุนแรงและขยายตัวอย่างรวดเร็วเหลือ เกิน รวดเร็วอย่างที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยถึงสถานการณ์ช้างไทยเมื่อไม่นานมานี้ว่า...  "ปัจจุบันจำนวนช้างป่าและช้างบ้านอยู่ในภาวะที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีอยู่ไม่ถึง 5,000 แล้ว และมีการประเมินว่าหากไม่มีการเร่งดำเนินการช่วยเหลือช้างไทย อาจจะสูญพันธุ์ภายใน 14 ปี !!"
 
ทั้งนี้ เมืองไทยมีการกำหนดให้ "วันที่ 13 มี.ค." ของทุกปี เป็น "วันช้างไทย" โดยมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2541 หรือกว่า 11 ปีมาแล้ว และปัจจุบันก็อยู่ในช่วงเวลาของ "แผนแม่บทการอนุรักษ์ช้างแห่งชาติ" (พ.ศ. 2546-2555) ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า "คนคู่ช้าง ช้างคู่ไทย ช้างยิ่งใหญ่ ไทยยั่งยืน" มีการกำหนดพันธกิจ ทั้งกับช้างบ้าน ช้างป่า คนที่เกี่ยวข้องกับช้าง มียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
นอกจากนี้ เมืองไทยยังมีมูลนิธิ มีองค์กรเอกชน มีเอ็นจีโอ มีคนที่เห็นความสำคัญของช้างไทย เห็นปัญหาของช้างไทย ที่สงสารช้างไทย ดำเนินการช่วยเหลือช้างไทยในรูปแบบต่าง ๆ อีกหลายกลุ่ม
 
แต่...ปัญหาของสัตว์ใหญ่อย่างช้างไทยก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนตัว ช้าง หากคนไทยโดยรวมแค่คิดสงสาร แต่ก็ไม่ได้ช่วยกันพร้อมเพรียง เช่น สนับสนุนหน่วยงานรัฐ เอกชน เอ็นจีโอ ที่ทำงานด้านช้าง, ไม่สนับสนุนคน ที่ใช้ช้างหากินอย่างไม่เหมาะสม ผิดธรรมชาติของช้าง ทรมานช้าง, เป็นหูเป็น ตาให้เบาะแสเจ้าหน้าที่ในการเอาผิดกับคนที่กระทำผิดต่อช้างในลักษณะต่าง ๆ ปัญหาของช้างไทยก็คงไม่อาจจะบรรเทาเบาบางลงไปได้ง่าย ๆ
 
"เคราะห์ของช้าง" ที่เกิดซ้ำ ๆ ส่วนใหญ่ก็เพราะ "คนทำ"
 
"ทำบาป-ทำกรรมกับช้าง" เรื่องน่าเศร้าแบบนี้เกิดไม่หยุด
 
คนไทยโดยรวมต้องไม่แค่คิดสงสาร...จึงจะช่วยช้างได้ !!!.

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=74587&NewsType=2&Template=1


check out the rest of the Windows Live™. More than mail–Windows Live™ goes way beyond your inbox. More than messages