วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"ลูก" เครื่องมือในการต่อรอง?/มังกรซ่อนกาย

“ลูก” เครื่องมือในการต่อรอง?/มังกรซ่อนกาย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มิถุนายน 2552 16:23 น.
       จากคราวที่แล้วที่ผมได้เขียนเรื่องค่าเลี้ยง ดูกับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าร้างกัน ก็มีผู้ให้ความสนใจและสอบถามเข้ามาหลายท่าน แต่มีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องหย่า การใช้อำนาจปกครอง และค่าอุปการะเลี้ยงดูที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่ควรนำมาเล่าสู่กันฟัง ตามข้อเท็จจริงที่สอบถามเข้ามาก็คือ
       
       นายมั่น กับนางหมายเป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย นายมั่นประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ส่วนนางหมายเป็นข้าราชการครู ซึ่งนายมั่นก็มีรายได้มากกว่านางหมายเล็กน้อย ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ เด็กชายปอง ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่และนางหมายกำลังตั้งครรภ์อยู่อีกหนึ่งคน คู่สามีภรรยาคู่นี้ทำงานอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้ส่งเด็กชายปองไปให้ปู่กับย่าเลี้ยงดูที่อยุธยามา ตลอดโดยนายมั่นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กชายปองแต่เพียงผู้ เดียว
       
       ปัญหา ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นของสามีภรรยาคู่นี้ก็คือเดิม นายมั่นให้นางหมายเป็นผู้บริหารเงินที่ทำมาหาได้ด้วยกันแต่ผู้เดียว แต่ในระยะหลังนางหมายกลับส่งเงินไปให้ญาติของตนใช้จ่ายและพยายามก่อหนี้สิน เกินตัว เช่น ต้องการซื้อที่ดินโดยจะไปกู้เงินของผู้อื่นมาหรือเอาที่ดินที่มีอยู่ไปจำนอง ไปขายฝากต่างๆนานาโดยนายมั่นไม่ได้เห็นชอบด้วย และทนไม่ได้กับพฤติกรรมการใช้เงินของนางหมายจึงไม่ยอมให้นางหมายเป็นผู้ บริหารเงินอีกต่อไป สร้างความไม่พอใจให้กับนางหมายอย่างมาก
       
       นางหมายจึงบีบบังคับนายมั่นโดยขู่ว่าถ้าไม่ยอมตามจะฟ้องหย่าและนำ เด็กชายปองมาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว แต่เด็กชายปองตั้งแต่เกิดก็อยู่กับปู่ย่ามาโดยตลอดซึ่งปู่กับย่าก็รักและหวง หลานปองอย่างมาก
       
       จึงขอตั้งประเด็นข้อสงสัยของนายมั่นมาให้ท่านผู้อ่านลองช่วยกันคิดว่านายมั่นจะทำประการใดกับเรื่องที่เกิดขึ้นดี คือ
       
       - ถ้านายมั่นฟ้องหย่านางหมายแล้วจะขอเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายปองได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ใครจะเป็นผู้มีโอกาสได้ลูกมาเลี้ยง
       - ปล่อยให้นางหมายเป็นฝ่ายฟ้องหย่าก่อนดี หรือนายมั่นจะชิงฟ้องเรื่องสิทธิปกครองบุตรก่อนดี
       - ถ้านายมั่นปล่อยให้นางหมายเป็นคนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคน คือทั้งเด็กชายปองและบุตรอีกคนที่อยู่ในครรภ์ นายมั่นจะต้องเสียค่าเลี้ยงดูอีกหรือไม่ ในเมื่อนางหมายเป็นผู้ที่ต้องการเอาลูกไปเลี้ยงเอง

       
       จากข้อสงสัยของนายมั่น การที่สามีภรรยาจะฟ้องหย่ากันได้จะต้องพิจารณาก่อนว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายมี ประพฤติอันเป็นเหตุหย่าตามกฎหมาย (ปพพ. มาตรา 1516) อีกฝ่ายหนึ่งถึงจะอ้างเอาเป็นเหตุในการฟ้องหย่าได้ ในกรณีของนายมั่นการกระทำของนางหมายยังไม่เข้าข่ายเป็นการประพฤติชั่ว (ปพพ. มาตรา 1516(2))
       
       เพราะการกู้ยืมเงินการเอาที่ดินไปจำนองเป็นนิติกรรมทางแพ่งทั่วไปที่ สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นางหมายไม่ได้ไปฉ้อโกงใครอื่นมาซึ่งนเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายแม้จะไม่ ถูกใจนายมั่น นายมั่นก็มีแต่เพียงสิทธิที่จะไม่ยินยอมก่อหนี้ด้วยกันกับนางหมายซึ่งการไม่ ยินยอมของนายมั่นนี้แม้นางหมายจะไม่พอใจก็ไม่เป็นเหตุให้นางหมายไปฟ้องหย่า นายมั่นได้ หรือการที่นางหมายขู่จะหย่าแล้วเอาลูกไปเลี้ยงเองเพื่อต่อรองกับนายมั่นก็ ไม่ถือเป็นเหตุที่นายมั่นจะอ้างเพื่อฟ้องหย่าได้เช่นกัน
       
       แม้ การขู่จะเอาเด็กชายปองไปเลี้ยงเองจะเป็นการโต้แย้งสิทธิการใช้อำนาจปกครอง บุตรก็เป็นอีกประเด็หนึ่งต่างหากจากเรื่องการฟ้องหย่า ดังนั้นทั้งนายมั่นและนางหมายไม่มีเหตุอันใดตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาฟ้อง หย่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ เว้นแต่นายมั่นและนางหมายจะสมัครใจหย่าขาดจากกันเอง
       
       การที่ทั้งคู่ไม่อาจอ้างเหตุฟ้องหย่ากันและกันได้แล้วจะมีการอ้างการ ถูกโต้แย้งสิทธิในการใช้อำนาจปกครองบุตรเพื่อนำบุตรไปเลี้ยงดูแต่ฝ่ายเดียว ได้หรือไม่นั้น ตามปพพ มาตรา 1566 บัญญัติว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา” ซึ่งหมายความว่าโดยหลักแล้วบุตรผู้เยาว์ต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของทั้ง บิดามารดาถ้าทั้งสองฝ่ายยังคงมีชีวิตอยู่แต่อำนาจปกครองบุตรอาจตกไปอยู่กับ บิดาหรือมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ โดยคำสั่งศาลหรือการที่บิดามารดาตกลงกันเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองบุตร (ปพพ.มาตรา 1566 (5) – (6))
       
       ดังนั้นนายมั่นหรือนางหมายจึงอาจนำเด็กชายปองมาเลี้ยงดูอยู่กับตนเอง ได้แม้ทั้งคู่จะฟ้องเพื่อหย่าขาดจากกันไม่ได้ แต่ทั้งคู่อาจโต้แย้งสิทธิในการใช้อำนาจปกครองบุตรได้โดยการขอให้ศาลมีคำ สั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับตนฝ่ายเดียวโดยยื่นคำร้องต่อศาล เยาวชนและครอบครัวเพื่อให้ศาลฯไต่ส่วนและมีคำสั่งให้
       
       ส่วนในประเด็นว่าแล้วใครจะมีโอกาสได้ลูกมาเลี้ยงมากกว่ากันนั้นก็ เป็นเรื่องดุลพินิจของศาล โดยศาลจะพิจารณาดูจากความเหมาะสมหลายๆประการ เช่น ความสามารถในการเลี้ยงดู พฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจปกครอง สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม การให้การศึกษาแก่บุตร และความต้องการของบุตร และเหตุอื่นๆ โดยศาลจะถือเอาผลประโยชน์ของบุตรเป็นหลัก ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะสามารถนำสืบแสดงเหตุผลต่างๆที่เป็นผล ประโยชน์แก่เด็กให้ปรากฏต่อศาลได้มากกว่ากัน
       
       ส่วน ถ้านายมั่นจะยกให้นางหมายเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายปองและบุตรในครรภ์เพียงคน เดียวตามที่นางหมายต้องการ นายมั่นก็ยังคงต้องมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองจนกว่าบุตรจะบรรลุ นิติภาวะ ดังนั้นนายมั่นก็ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและการ จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนี้นายมั่นก็ต้องจ่ายให้นางหมายเนื่องจากนางหมาย เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรโดยจะต้องจ่ายจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะตามความเหมาะสม ของรายได้ที่นายมั่นมี
       
       สุดท้ายการที่ใครจะฟ้องใครก่อนนั้นดีกว่ากันก็ไม่มีใครดีกว่าใครขึ้น อยู่กับว่าปู่ย่าจะยอมให้นางหมายเอาเด็กชายปองไปเลี้ยงหรือไม่ ถ้าไม่ยอมนางหมายก็ต้องไปร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเป็นผู้ใช้ อำนาจปกครอง หรือถ้านางหมายเอาเด็กชายปองไปจากปู่ย่าได้แล้วแต่นายมั่นไม่ยอมนายมั่นก็ ต้องไปร้องต่อศาลเพื่อจะได้เป็นผู้ปกครองดูแลบุตรต่อไป
       
       มังกรซ่อนกาย Hiddendragon2552@gmail.com

http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000062578