วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

สรุปยอด 131 คน ชิงกรรมการสิทธิ์ /สรรหากก.สิทธิฯส่อวุ่น!รธน.ไม่ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิ

สรุปยอด 131 คน ชิงกรรมการสิทธิ์

สรุปยอด131คน ชิงกรรมการสิทธิ์
Source - เว็บไซต์ข่าวสด (Th)

Monday, March 23, 2009 08:28


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งสรุปจำนวนผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ซึ่งเป็นวันรับสมัครวันสุดท้ายว่า มีจำนวน 82 คน โดยมีบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพสมัครเข้ารับการสรรหา อาทิ น.พ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายอภิชาติ ดำดี นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.พ.แท้จริง ศิริพานิช และนางเตือนใจ ดีเทศน์ รวมตลอดช่วงการเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 14-20 มี.ค. มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวม 131 คน


สำหรับคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำหนดให้เปิดรับสมัครบุคคลผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ประกอบกับมาตรา 207 (4) และมาตรา 209 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550


หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครตามมาตรา 6 พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 7 รายชื่อ นำเสนอประธานวุฒิสภาให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน และนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้งเป็น กสม.ชุดใหม่


ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod
วันที่ 23 มีนาคม 2552 http://www.nhrc.or.th/news.php?news_id=4944

สรรหากก.สิทธิฯส่อวุ่น!รธน.ไม่ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิ

สรรหากก.สิทธิฯส่อวุ่น!รธน.ไม่ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิ
Source - พิมพ์ไทย (Th)

Monday, March 23, 2009 06:07

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--พิมพ์ไทย


"สดศรี สัตยธรรม" อดีต ส.ส.ร.ยอมรับการคัดสรรหา กก.สิทธิฯ ไม่ได้บัญญติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 กรณีเลขานุการ กก.สรรหาลงสมัคร คกก.สิทธิฯ ขณะ"ปวีณา หงสกุล"ลงสมัครได้ แม้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง เหตุไม่มีกฎหมายลูกรองรับ


วานนี้(22 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เริ่มกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิแห่งชาติชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่หมดวาระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่ได้กำหนดวิธีการสรรหาเอาไว้ และระบุไว้เพียงให้ทำตามที่กฎหมาย บัญญัติ ซึ่งหมายถึงต้องออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับใหม่มาใช้แทน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2542 แต่ต่อมามีผู้ไปฟ้องร้องศาลปกครอง ขอให้มีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯทันที ตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้เริ่มการสรรหา โดยไม่ต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ และให้ใช้กฎหมายฉบับเดิมไปพลาง ทำให้การสรรหาครั้งนี้ ต้องใช้ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิฯ ปี 2542


ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิฯ ปี 2542 มาตรา 8(1) ระบุให้เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา และต่อมาได้มีการเปิดรับสมัครผู้ประสงค์จะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสิทธิฯ ตั้งแต่วันที่ 12-14 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ในรายชื่อผู้สมัครหมายเลข 99 กลับปรากฏชื่อของ นางอรินณพงศ์ สูตรสุคนธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯคนปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้สมัครด้วย จึงทำให้เกิดคำถามว่าการลงสมัครของ นางอรินณพงศ์ ทำได้หรือไม่ เพราะตามกฎหมาย นางอรินณพงศ์ เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา จึงไม่น่าที่จะมีสิทธิ์ลงสมัคร


ขณะที่ นางอรินณพงศ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยอมรับว่าตนไปสมัครเป็นคณะกรรมการสิทธิฯชุดใหม่จริง ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา และยืนยันว่า มีสิทธิ์ที่จะลงสมัคร เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเลขาธิการกรรมการสิทธิฯเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯก็ทำหน้าที่เป็นเพียงฝ่ายธุรการของคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น ไม่มีส่วนได้เสีย กับการสรรหา ซึ่งก็ได้แจ้งกับกรรมการสรรหาถึงกระบวนการแล้ว และในขณะนี้คณะกรรมการสรรหาก็ไม่มีเลขานุการแต่อย่างใด


นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบอีกว่าการสมัครครั้งนี้ยังปรากฏชื่อของนางปวีณา หงสกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในผู้สมัครเช่นกัน ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่านางปวีณาจะมีสิทธิลงสมัครหรือไม่


ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา256 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติใดๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิฯเอาไว้ เลย และเขียนเพียงว่า “ทั้งนี้ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมกรรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ” ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายฉบับใหม่มารองรับ จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ ปี 2542 ซึ่งก็ไม่ได้กำหนดห้าม ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิฯ แต่อย่างใด


ต่อเรื่องนี้ นางสดศรี สัตยธรรม ในฐานะอดีต ส.ส.ร.กล่าวยอมรับว่า ส.ส.ร.เราลืมบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะช่วงนั้นการร่างรัฐธรรมนูญทำอย่างเร่งรีบ เพื่อให้เสร็จโดยเร็ว จึงมีการหลงลืมบ้าง แต่ก็กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบที่จะออกมา และยอมรับว่ามีอีกหลายเรื่องที่เราลืมบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องคุณสมบัติของ ส.ส.สัดส่วนหากถูกยุบพรรค.
วันที่ 23 มีนาคม 2552
http://www.nhrc.or.th/news.php?news_id=4945