Dress code (2.) อย่าทำลายพลังตัวตน ด้วยการแต่งตามอำเภอใจตน ! |
โดย แดงส์ ตักสิลา | 29 มิถุนายน 2552 20:30 น. |
|
fashionhora@gmail.com
| ครั้งที่แล้วนำเอา Dress Code มาชี้แนะสาวทำงานให้ตระหนักถึงการให้ความสำคัญต่อ Dress Code ซึ่งเป็นรหัสมาตรฐานการแต่งกายออกสังคม ก็ได้ภาพสะท้อนที่หลากหลายจากผู้อ่าน ทั้งที่เป็นแฟนประจำ และแวะเวียนมาอ่าน ต่างคนต่างมุมมองก็เป็นเรื่องธรรมดา ในความเป็นจริงผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันถูก Dress Code ครอบงำกันโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว มิใช่สิ่งแปลกใหม่ หรือเรื่องดัดจริตใดๆ ต่างก้มหน้าก้มตาเดินตามก้นผู้นำด้าน Dress Code กันอยู่แล้ว แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่เราเลือกแต่งสะท้อนพลังตัวตนตาม Dress Code นั้นๆ ผิดวาระโอกาส และกาลเทศะหรือไม่ คือ สิ่งที่ต้องหันมาทบทวน อย่าแต่งตามอำเภอใจตน หรือกลุ่มตน ด้วยความเชื่อของตนเองในลักษณะอารมณ์ "ช่างมันฉันไม่แคร์" ลองสังเกตอิทธิพลต้นแบบ Dress Code ต่อไปนี้ดูกันหน่อยไหมว่า ผู้มาทีหลัง เมื่อต้องแต่งตัวให้ตรงตามภาพลักษณ์ตัวตนต้นแบบ และรู้ด้วยว่าต้องแต่งด้วยองค์ประกอบศีรษะจรดเท้าอย่างไร ตลอดจนต้องปรับท่าทีท่าทางให้สอดคล้อง กับต้นแบบพลังตัวตนตาม Dress Code นั้นด้วย
| อาทิ ทำไมนักร้องเพลงเพื่อชีวิตต้องแต่งกายแนวเดียวกันทุกคน ? ทำไมนักร้องลูกทุ่งชายเดี๋ยวนี้ต้องแต่งกายแนวเดียวกับก็อต จักรพันธ์ ? ทำไมนักขี่ช็อปเปอร์ต้องแต่งกายศีรษะจรดเท้า ด้วยรูปลักษณ์เดียวกัน ? ดาราสาวเวลาออกงาน ทำไมต้องแต่งตัวดันอกดันนมให้ตู้มทะลักล้นตามกันแทบทุกคน ? สาวไฮโซสูงวัย ทำไมต้องทำผมทรงตีโป่ง ยีฟู หัวโต ? สาวเทียม ทำไมแต่งตัวและเดินเหินเกินความเป็นหญิงแท้เกือบทุกคน ? นักร้องวัยรุ่นไทยชายหญิงประเภทดูโอ หรือทีม ทำไมแต่งกายและลีลาสไตล์เกาหลีกันหมด ? ทำไมดีเจวีเจต้องมีลีลาเสียง สไตล์การพูดท่าทางเหมือนๆ กันไปหมด ? ทำไมสาวๆ ตอนนี้ต้องมีดอกไม้ดอกโตติดผมด้านข้าง หลากสไตล์ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเข้ากับใบหน้า หรือเสื้อผ้าที่ตัวเองแต่งไหม ติดกันเหมือนเป็นเครื่องรางของขลัง เพราะอะไร ? อ้อ ! แถมอีกข้อหนึ่งทำไมคู่บ่าวสาวต้องถ่ายภาพ หรือทำวีดิทัศน มาตั้งโชว์ในงาน ฉายให้แขกชมในงาน แทบจะเหมือนๆ กันไปหมด ? นั่นแหละครับคือ Dress code ที่ถูกกำหนดโดยต้นแบบตัวตน ของแต่ละอาชีพ แต่ละรูปแบบกิจกรรมทางสังคม แต่ถามว่าแต่งแล้วดูดี มีพลังตัวตน ตามอาชีพนั้นหรือไม่ ต้องพิจารณากันเอง แต่ที่แน่ๆ ไม่มีพลังตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวตนแน่นอน เพราะเป็น Dress code แนวต้องแต่งตามให้ดูดี ดูเหมือน เท่าทัน เท่าเทียม
| เวลาดูหนังเรื่องสามก๊ก สังเกตเครื่องแต่งกายที่ Costume Designer ออกแบบและจัดทำให้ จะคำนึงถึงพลังภาพลักษณ์ตัวตน (HEP's Image Power) ของตัวแสดงแต่ละคน นักออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อการแสดง (Costume Designer) ทำงานแตกต่างจากนักออกแบบแฟชั่น (Fashion Designer) หรือฝ่ายจัดรูปแบบแล้วจัดหาเสื้อผ้าตามสไตล์ (Stylist) เพราะ Costume Designer ต้องตีโจทย์ให้ละเอียดถึงพลังตัวตนตัวแสดงแต่ละคนให้ชัดว่า แต่ละคนมีรูปแบบวิถีชีวิตมีนิสัยพฤติกรรมอย่างไร ดังนั้นเวลาตัวแสดงนั้นนำเสนอบทบาทที่ตรงตามบุคลิก และมีเครื่องแต่งกายที่ได้ออกแบบให้ดูดีมีพลังตัวตนสัมพันธ์กับบทบาทนั้น ทำให้เรามีอารมณ์คล้อยตามไปกับตัวตนของแต่ละตัวแสดง ชีวิตประจำวันของเราก็เช่นกัน เราต้องไปปรากฏกายให้คนอื่นได้สัมผัสโดยไม่ได้ตั้งใจ และบางทีเราก็อาจจะไม่เคยใส่ใจในภาพรวมพลังตัวตน อันสะท้อนไปสู่สายตาคนอื่นด้วยสไตล์การแต่งกายที่เราแต่ง จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่มีชื่อเสียง มีโอกาสปรากฏตัวผ่านสื่อ หรือในงานสังคม ที่สื่อทุกสาขาถ่ายภาพไปเผยแพร่ และทำให้เกิดเป็นกระแสค่านิยมต้นแบบ Dress Code ให้แต่งตามกันทั้งเมือง... เคยแนะว่าการแต่งกายต้องบริหารสมดุล 4 วิถีชีวิตตัวตนให้ดูดี มีพลัง เหมาะสมลงตัวกับบทบาทหน้าที่ และสถานะภาพในการไปปรากฏกาย ลองทบทวนอีกครั้งดีไหมครับ 1. วิถีชีวิตตัวตนส่วนตัว (Personal Lifestyle) ความพึงพอใจ รสนิยม ค่านิยม ความเชื่อ ที่เป็นอารมณ์ส่วนตัว ควรมีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของภาพรวมการแต่งกายโดยรวม ต้องกำหนด 2. วิถีชีวิตตัวตนอาชีพ (Career Lifestyle) รูปแบบเฉพาะแต่ละอาชีพแตกต่างกัน บางคนคิดว่าทำงานอยู่เบื้องหลัง ไม่ค่อยมีใครเห็น แต่ลืมไปว่าเวลาเข้าไปในที่ทำงานก็ต้องเดินผ่านให้ผู้คนมองเห็น ควรให้ความสำคัญจัดเปอร์เซ็นต์สะท้อนพลังตัวตนอาชีพให้ชัด
| 3. วิถีชีวิตตัวตนองค์กร (Workplace /Corporate Lifestyle) แต่ละสถานที่ทำงาน หรือแต่ละองค์กรต่างมีวัฒนธรรม หรือภาพลักษณ์แตกต่างกัน อาจเป็นที่รวมของคนหลากอาชีพ หลากรสนิยม แต่ที่แน่ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ควรจัดเปอร์เซ็นต์สะท้อนพลังตัวตนองค์กรให้ชัดเจนด้วย 4. วิถีชีวิตตัวตนทางสังคม (Social Lifestyle) การไปปรากกฎกายในแต่ละสังคม ต้องตระหนักว่า กำลังไปอยู่ ณ ที่นั้นด้วยสถานภาพใด ฐานะส่วนตัว หรือตัวแทนองค์กร ต้องจัดเปอร์เซ็นต์สะท้อนพลังตัวตนให้เหมาะสมกับสังคมนั้นๆ ดูแล้วเหมือนมันเป็นเรื่องยุ่งยาก และไม่น่าจะต้องมาวุ่นวายแนะนำ แต่ก็ลองกวาดสายตา มองดูรอบๆ ตัวเรา บนถนน ในร้านอาหาร ในศูนย์การค้า ในห้างสรรพสินค้า ในรายการทีวี ข่าวผ่านเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพที่เรามองเห็นลองพิจาณาดูแล้วถามตัวเอง ตอบด้วยความจริงใจว่า มันมีภาพรวมดูดี เหมาะสม ลงตัว กับแต่ละผู้คน..ทุกคนไหม ? ตั้งใจจะนำสาระศัพท์เฉพาะมาชี้แนะ แต่เห็นว่าหลายคนอาจไม่เข้าใจในนิยาม Dress code ว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่ใช่ครับ เป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะสาวทำงานต้องให้ความสนใจ เตรียมตัวให้พร้อมกับทุกสภาวะของการปรากฏกาย แล้วพบกันอีกสัก 1 ตอนนะครับ ว่าด้วยศัพท์เฉพาะของ Business Dress Code หมายเหตุ: ประเทศไทยมีวัฒนธรรมการแต่งกายเฉพาะโอกาสที่มีข้อกำหนดรายละเอียดให้สืบทอดมายาวนาน โดยเฉพาะการแต่งกายในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งเวลาผู้จะไปร่วมงาน หรือพระราชพิธีใด จะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายดังกล่าวเปรียบเป็นศัพท์การแต่งกายสากลว่า Dress Code และเป็นนิยามมาตรฐานสากลที่คนทั้งโลกเข้าใจ | http://www.manager.co.th/lady/viewnews.aspx?NewsID=9520000073607 |
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
What can you do with the new Windows Live?
Find out