เหลียวหลังเก็บประสบการณ์ต่างแดน...ฝากถึงผู้ว่าฯ กทม. |
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 1 ตุลาคม 2551 16:22 น. |
|
เข้าโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นอกจากชาวกรุงต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของนโยบายและโปรไฟล์ของว่าที่ผู้ว่าฯ กันอย่างถ้วนถี่แล้ว การหยิบเอาประสบการณ์ชีวิตมาร่วมคิดคำนึง แถมด้วยการใส่ความคาดหวังในตัวผู้นำคนใหม่ ก็คงชวนให้หลายคนได้ฉุกคิดถึงย่างก้าวสำคัญตลอด 4 ปีข้างหน้า...ว่าควรจะเป็นไปอย่างไรได้มากขึ้น สำหรับผู้ที่เคยผ่านการใช้ชีวิตในเมืองหลวงใหญ่ ๆ ในต่างประเทศมาแล้ว คนกลุ่มนี้ต่างก็มีมุมมองที่อยากให้กรุงเทพฯ ก้าวไปสู่มหานครชั้นยอด แบบไม่เป็นเพียงแค่ความคิดฝันอีกต่อไป ...
| เอ่ยถามว่า กทม. จะเป็นมหานครชั้นยอดได้มั๊ย ในความเห็นของ รศ.นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผอ.ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ รพ.จุฬาฯ ผู้เคยใช้ชีวิตในลอนดอนยาวนานถึง 32 ปี ตอบทันทีว่าเป็นไปได้ หากผู้ว่าฯ คนใหม่เป็นคนโปร่งใส มีการศึกษาดี มีวิสัยทัศน์และเคยเดินทางไปเห็นต่างประเทศมามากพอ เพราะปัญหาต่างๆ บางครั้งมันคิดเองไม่ได้ว่าจะแก้ไขกันแบบไหน ถ้าเคยมีประสบการณ์ที่เรียนรู้จากบ้านเมืองอื่น ก็จะช่วยเปิดมุมมอง และนำมาปรับใช้ได้บ้าง ในอีกแง่ของคุณภาพชีวิต คุณหมอขอให้น้ำหนักแก่เรื่องของความปลอดภัย เพราะ ใช่ว่าการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ต่างๆ จะรู้สึกปลอดภัยเสียทั้งหมด อย่างเมื่อครั้งที่ต้องไปทำงานที่ มาดริด และบาเซโลนา ประเทศสเปน ชีวิตผู้คนที่นั่นถึงจะดูมีชีวิตชีวา แต่ในเวลาเดินไปที่ไหนๆ กลับต้องเหลียวหลังตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยมากพอ ขณะเดียวกัน ในความเป็นเมืองคุณภาพ ก็ไม่ควรตกหล่นเรื่องสีสันในความหลากหลายของกรุงเทพฯ จนกลายเป็นเมืองน่าเบื่อที่ได้มาตรฐาน แต่ขาดชีวิตชีวาไปเสีย "ถ้าจะให้เห็นภาพ มันคงเปรียบเหมือนเค้กก้อนหนึ่ง ผู้ว่าฯ ต้องทำเค้กให้อร่อย ใส่ส่วนประกอบต่างๆ ของคุณภาพชีวิตที่ดีลงไปให้ครบถ้วน แต่เค้กที่ดีที่สุดมันต้องมี ไอซ์ซิ่ง ออน เดอะ เค้ก เช่น เรื่องศิลปะ วัฒนธรรม หยิบตรงนี้มาชูความน่าสนใจ ว่า กทม. ยุคนี้มันมีอะไรที่แตกต่าง มากไปกว่าการมาชมวัดและวัง อย่างที่เป็นมา หรือในมุมของหมอ ถ้าผู้ว่าฯ จะทำทุกทางอย่างจริงจังเพื่อให้ กทม. เป็นพื้นที่ปลอดยุง อย่างที่สิงคโปร์ทำได้ ตรงนี้ก็จะเป็นไอซ์ซิ่ง ออน ท็อป เป็นจุดขายให้ กทม.ได้อย่างหนึ่ง และไม่ควรละเลยต่อเรื่องเล็กๆน้อยๆ ของคนบางกลุ่มด้วย เพราะหากผู้ว่าฯ ทำได้ นั่นจะแสดงถึงความเป็นคนที่เอาใจใส่ แม้อาจจะทำได้ไม่ทุกเรื่อง แต่ก็เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง"
| ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม(สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พ.ศ. 2541 ถึงวันนี้ กรุงเทพฯ เป็นความภาคภูมิใจ ไม่ใช่เฉพาะของคนไทย แต่เป็นเมืองท่องเที่ยวของชาวโลกด้วย ทำให้ ดร.สุเมธมองว่าการบริหารจัดการพื้นที่บนเกาะรัตนโกสินทร์เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะเป็นหัวใจของคนไทย และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกรู้จัก เปรียบเหมือน มีเพชรอยู่เม็ดหนึ่งซึ่งต้องช่วยกันขัดให้เพชรเม็ดนี้สวยงามตลอดเวลา "จากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก่อนเรามองเข้ามาเห็นทัศนียภาพ โบราณสถานที่สวยงาม แต่เดี๋ยวนี้ มองเข้าไปบางจุดเป็นสลัม หรือแม้แต่สนามหลวงที่เคยเขียวสด ก็กลายเป็นที่จอดรถ ตรงนี้ต้องปรับกันให้เป็นระบบ ที่เมืองนอก สถานที่สำคัญๆ เขาจะปิดเส้นทาง ห้ามรถเข้า ทำให้เป็นถนนคนเดิน ก็จะช่วยให้พื้นที่โดยรอบของพระบรมมหาราชวังดูสวยขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการจัดการอย่างรอบด้าน รวมถึงเรื่องการบำบัดน้ำเสีย เพื่อแม่น้ำจะได้กลับมาใสสะอาด และเรื่องระบบขนส่ง ถ้าเปลี่ยนมาใช้การเดินทางโดยรถไฟฟ้าแทนรถเมล์ ก็จะไม่ต้องจอแจตรงประตูวิเศษไชยศรีเหมือนที่เป็นอยู่" ด้าน ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร ผอ.สถาบันพัฒนาเมือง ในฐานะคนกรุงเทพฯ ขอแชร์มุมมองว่า กทม.ในวันนี้ต้องการความทันสมัยไปพร้อมๆ ความต้องการที่หลากหลาย เพื่อรักษาความแตกต่างในความเป็นกรุงเทพฯ เอาไว้ และต้องไม่มีโมเดลใดโมเดลหนึ่งในการบริหารทั้ง 50 เขต ขณะที่สาธารณูปโภค การขนส่งที่ครอบคลุมทั่วถึง ก็ต้องทันสมัยและคล่องตัวที่สุด จากประสบการณ์เยือนมาแล้วหลายประเทศ ดร.ภูเบศร์ บอกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีคือ เรามีความสุขในการใช้ชีวิต มีรายได้เพียงพอ ที่จะใช้ชีวิตที่เพียงพอ โดยไม่ต้องดิ้นรนมากเกินไป มีเวลาไปสันทนาการทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ถ้าในแง่การท่องเที่ยว ก็อยากให้บริหารจัดการแบบเมืองฟอเรนซ์ ที่สามารถรักษาขนบแบบฟอเรนซ์ไว้ได้ดีพอสมควร แต่ถ้าเป็นโซนที่อยู่อาศัย ก็อยากเห็นการบริหารจัดการแบบ เมืองคูเปอร์ ทาวน์ นิวยอร์ก ที่แม้จะอยู่ใกล้มหานครใหญ่แต่ไม่พลุกพล่านเท่า ผู้คนยังคงมีชีวิตประจำวันที่อากาศบริสุทธิ์ อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ
| "เคสการดูแลคนแก่ของญี่ปุ่นก็น่าสนใจนะ คนกลุ่มนี้เขามีฐานะพอสมควร มีกำลังจับจ่ายและไม่ได้อยากอยู่บ้านแค่เลี้ยงหลาน คนแก่ที่โน่นเขาก็รวมเงินกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ลงทุนเรื่องที่พักในต่างแดน เพื่อรองรับคนแก่ในญี่ปุ่นที่อยากจะท่องเที่ยวในช่วงบั้นปลาย หรือแม้แต่แหล่งการเรียนรู้ของเยาวชนในสวนสาธารณะที่ออสเตรเลีย กลุ่มคนรักกบ (Frog Lovers ) ที่มารวมตัวกันเอากบมาให้เด็กๆ ได้ลองจับ ทำนิทรรศการเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชนได้ในทุกที่ ไม่เพียงแต่ในตำราหรือห้องสมุด" ปิดท้ายที่ น้ำอบ-ม.ล.อรณิช กิติยากร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารวิสาหกิจฯ บมจ.การบินไทย ด้วยความเป็นลูกสาว ม.ร.ว. จิราคม กิติยากร อดีตทูตพาณิชย์ประเทศไทยประจำกรุงโตเกียว ก็ทำให้เธอเดินทางเยือนแดนปลาดิบอยู่บ่อยครั้ง และสิ่งที่ประทับใจมากที่สุด เธอบอกว่ายกให้ระบบการขนส่ง ที่ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนๆ ของเมือง ก็สามารถเดินทางได้สะดวกไปถึงทุกที่ด้วยรถไฟอย่างเดียว เป็นการเปิดโลกทัศน์โดยไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง สามารถทำให้อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตสะดวกขึ้นตามมา ทุกสิ่งทุกอย่างตรงต่อเวลา เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ แต่ถ้าหันมาดูระบบขนส่งในบ้านเรา นอกจากเรื่องรถไฟฟ้าแล้ว ขอเน้นเรื่อง ถนน ที่พื้นผิวไม่เรียบ บางครั้งขับรถไปตกท่อ หรือ ซ่อมถนนอยู่ข้างหน้าแล้วไม่มีป้ายบอกก่อนถึงจุดซ่อม จนทำให้รถติดเป็นคอขวด เสียเวลามากแถมยังเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
| ส่วนเรื่องคนใช้ถนน เห็นได้ชัดว่า บ้านเราคนยังไม่มีวินัยมากพอ แต่ที่ญี่ปุ่น คนเขามีวินัยในการใช้ถนนร่วมกันมาก ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่ ยังมีชาวบ้านอาสาสมัครเข้ามาช่วยรับผิดชอบและมีสิทธิ์เขียนใบสั่งตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายด้วย เพื่อให้ทุกคนมีส่วนช่วยกันดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน แม้จะมีคนละมุมมอง แต่ทั้ง 4 คิดเหมือนกันคือต้องการผู้ว่าที่มีวิสัยทัศน์และสำคัญต้องโปร่งใส่ไม่โกงกิน นั่นคือต่างมุมมองของเมืองหลวงที่อยากฝากเป็นการบ้านให้ผู้ว่าคนใหม่
| |
|
http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000116436
What can you do with the new Windows Live?
Find out