วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนาและแถลงข่าว “1 ปีโศกนาฎกรรม 54 ศพ แรงงานพม่า วันนี้…ยังมีความหวัง”
โดย : องค์กรร่วมจัด เมื่อ : 8/04/2009 02:50 PM
วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น.
สถานที่ ห้องประชุมห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์
ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
----------------------------------------------------

หลักการและเหตุผล

จากเหตุการณ์ของผู้อพยพชาวพม่าที่เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจจำนวน 54 รายในรถตู้คอนเทนเนอร์ ที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 บัดนี้ ครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความเศร้าสลดของสังคมไทย และเกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่า เหตุการณ์นี้ได้ดำเนินการคลี่คลายไปในทิศทางใด

การดำเนินงานช่วยเหลือที่ผ่านมาสำหรับผู้ประสบเหตุที่รอดชีวิตจำนวน 66 คน ได้เดินทางกลับบ้านยังประเทศพม่าอย่างปลอดภัย ภายใต้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือของคณะทำงานที่ประกอบขึ้นด้วยหน่วยงานทั้งจากภาครัฐบาล และองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ทายาทผู้เสียชีวิตยังได้รับค่าสินไหมชดเชยเบื้องต้น (ค่าปลงศพ) รายละ 35,000 บาท จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ. 2535 จากวงเงินเต็มจำนวน 100,000 บาท ซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์ว่ากฎหมายไทยสามารถนำมาซึ่งการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายได้ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของเชื้อชาติ อันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความตระหนักต่อสิทธิมนุษยชนที่มีในสังคมไทย

อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีทางกฎหมายยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน เนื่องเพราะคดีนี้เป็นคดีความที่เกิดขึ้นกับผู้อพยพชาวต่างชาติ ทำให้มีเงื่อนไขการดำเนินการที่แตกต่างกับคดีที่เกิดขึ้นกับคนไทย อีกทั้งบริบทของประเทศพม่าเอง ยังมีส่วนสำคัญต่อระบบเอกสารอันเป็นหลักฐานที่ใช้ในการยืนยันตัวตนของผู้เสียหาย และการยืนยันความเป็นทายาทอีกด้วย นอกจากนี้ การทำงานในครั้งนี้ยังต้องการการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้เชียวชาญในด้านต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ ทั้งภายในประเทศไทยเอง และการทำงานร่วมกับประเทศพม่า โดยคำนึงถึงความสำคัญในหลายมิติ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ข้อกำหนดทางกฎหมาย และความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนไปพร้อมกัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงนับเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่จะใช้เป็นบทเรียนในการพัฒนาการทำงานขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของภาครัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ ในการทำงานทั้งในเชิงการป้องกัน การคุ้มครอง/ ช่วยเหลือผู้เสียหาย รวมถึงการทำงานในกระบวนการยุติธรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในการทำงานช่วยเหลือแรงงานอพยพ และทายาทของผู้เสียชีวิต ทั้งในด้านการเยียวยาทางสังคมและกระบวนการยุติธรรม
2. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการพัฒนาระบบกลไกการทำงานเพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือแรงงานอพยพ และการดำเนินการทางกฎหมายของประเทศไทย

องค์กรร่วมในการจัดงาน

1. ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาต
3. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม
4. ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
6. โครงการความร่วมมือสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์
ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประจำประเทศไทย (UNIAP – Thailand)

วัน เวลา และสถานที่

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น.
ณ ห้องประชุมห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มเป้าหมาย (ประมาณ 150คน)

1. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์การระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติ สิทธิมนุษยชนและการต่อต้านการค้ามนุษย์

2. สื่อมวลชน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการทำงานทั้งในด้านการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมซ้ำ การให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้อพยพทั้งในเชิงมนุษยธรรม และในเชิงกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนากลไกที่เป็นมาตรฐานในการทำงานร่วมกันขององค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

(ร่าง) กำหนดการเสวนาและแถลงข่าว

12.30 – 13.00 น. ลงทะเบียน
13.00 – 13.10 น. กล่าวรายงาน โดย.....
13.10 – 13.20 น. กล่าวต้อนรับ โดย
13.20 – 13.30 น. กล่าวเปิดงาน โดย....
13.30 – 13.45 น. การนำเสนอ ย้อนหลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรมผู้เสียชีวิต 54 ศพ กรณีรถตู้คอนเทนเนอร์ จังหวัดระนอง (ภาพนิ่ง slide presentation) โดย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

13.45 – 14.00 น. รับประทานอาหารว่าง

14.00 – 15.30 น. เสวนาเรื่อง “ 1 ปีโศกนาฎกรรม 54 ศพ เกิดบทเรียนอะไรแก่สังคม?” โดย
- ผู้แทนสภาทนายความ
- ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- ผู้แทนสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
- ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย
- ผู้แทนมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
- นักวิชาการ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
- ผู้แทน.... (ด้านสิทธิมนุษยชน)

ดำเนินรายการโดยคุณกิตติ สิงหาปัด *** ระหว่างการติดต่อ

15.30 – 16.00 น. อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น/ ตอบข้อซักถาม
16.00 - 16.30 น. เวที แถลงข่าว “1 ปีโศกนาฎกรรม 54 ศพ แรงงานพม่า: วันนี้…ยังมีความหวัง” โดย องค์กรร่วมจัด พร้อม เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม