วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552

วิเคราะห์ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครั้งที่ 15..ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิ์น้อยกว่าผู้ต้องหา!

วิเคราะห์ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครั้งที่ 15..ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิ์น้อยกว่าผู้ต้องหา!





สถาบันข่าวอิศราฯ

วันพุธที่ 8 เมษายน 2009 11:34น.


ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองในส่วนกลางจะปั่นป่วนวุ่นวายเช่นไร แต่ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา โดยเฉพาะการพิจารณาต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงครั้งที่ 15 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคาดว่าคณะรัฐมนตรีจะประชุมกันในสัปดาห์หน้า "ทีมข่าวอิศรา" ขันอาสาวิเคราะห์หลากหลายแง่มุม....ตอนนี้เป็นตอนที่ 2

จากรายงานการศึกษาเรื่อง "บทบาทกระบวนการยุติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้" ของ นายศราวุฒิ ประทุมราช นักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชน และที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ที่นำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาโครงการเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ชุดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 3 เมื่อไม่นานมานี้ นายศราวุฒิได้วิเคราะห์เนื้อหาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในหลายๆ ส่วนที่น่าจะมีปัญหาขัดต่อหลักนิติธรรม หลักการตรวจสอบถ่วงดุล หลักสิทธิมนุษยชน และหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เอาไว้อย่างน่าสนใจ

บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อพิจารณาหลักการและสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศึกษารายละเอียดทั้งหมดแล้ว พบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อหลักการสิทธิมนุษยชนใน 4 มาตราหลัก คือ มาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 16 และมาตรา 17 ดังนี้

1) ขัดต่อหลักนิติธรรม

กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย (มาตรา 17)

โดยหลักการแล้ว รัฐต้องไม่ออกกฎหมายในลักษณะที่เป็นการยกเว้นความรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญาให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐ เพราะการลงโทษถือเป็นดุลพินิจของศาล เว้นแต่โดยสภาพของผู้กระทำความผิดไม่อยู่ในฐานะที่มีความสามารถตามกฎหมาย เช่น เป็นเด็กอายุไม่ถึง 10 ปี หรือเป็นบุคคลวิกลจริต หรือมีความบกพร่องทางสมองหรือทางจิตที่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้ว เป็นต้น

การที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ทำตามหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เท่ากับเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม เพราะเป็นการยกเว้นหลักการที่บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย ส่งผลให้เป็นช่องทางให้เกิดการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่ หรือผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถใช้อำนาจหน้าที่ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะมีความผิด เพราะกฎหมายได้บัญญัติยกเว้นความรับผิดและความผิดไว้แล้ว

นอกจากนี้ การที่เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจไว้แล้วไม่ต้องรับผิด จะทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานเกิดความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะกฎหมายได้ยกเว้นโทษเจ้าหน้าที่ไว้

2) ขัดต่อหลักการตรวจสอบถ่วงดุล

ทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจได้ แต่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีบทบัญญัติ 2 มาตราที่ขัดแย้งต่อหลักการนี้ คือในมาตรา 16 ที่บัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งหมายความว่า หากมีการออกคำสั่งใดๆ ที่เป็นคำสั่งทางปกครอง หรือมีการปฏิบัติหน้าที่โดยเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วเกิดความเสียหายต่อประชาชน ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการพิจารณา พิพากษา

และในมาตรา 17 ที่บัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากกระทำการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินความจำเป็นแห่งกรณี

3) ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

มาตรการห้ามต่างๆ ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 อาจไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ดังนี้

1.เสรีภาพในการเดินทางและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ ไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร และขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 12 ที่รับรองเสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 กำหนดมาตรการห้ามในกรณีเหล่านี้เอาไว้ ได้แก่

1.1 ห้ามการเดินทางหรือเคลื่อนย้าย

1.2 ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

1.3 ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

1.4 ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

1.5 ห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประเทศ

2.เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ จากกรณีที่มาตรา 9 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

3.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร จากกรณีมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

4.สิทธิในทรัพย์สิน จากกรณีที่มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดมาตรการดังนี้

4.1 ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ โดยมีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้นอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้า จะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

4.2 ออกคำสั่ง รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้า จะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

4.3 ยึดหรืออายัดสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใดในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน

5.เสรีภาพในการประกอบอาชีพ จากกรณีที่มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บัญญัติว่าต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในการซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองสินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้าย

6.เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร กรณีที่มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจการตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสาร ด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม

7.สิทธิในชีวิตและร่างกาย กรณี

7.1 เรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

7.2 ห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน

4) ขัดต่อหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

กล่าวโดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สอดคล้องต่อหลักสิทธิผู้ต้องหา สิทธิจำเลยในคดีอาญา ทั้งกฎหมายภายในประเทศ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายหรือกฎบัตรระหว่างประเทศ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้

1.อำนาจการจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือที่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ในมาตรา 12 ว่า "ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา 11 (1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ผู้ศึกษามีความเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรานี้ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำว่า “ผู้ต้องหา” หมายถึง บุคคลที่ถูกหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายและเจ้าพนักงานได้แจ้งให้ทราบว่า ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว

แต่ในกรณีนี้ทางราชการถือว่า “ผู้ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ยังไม่ถือเป็น “ผู้ต้องหา” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่มีการจับกุมผู้ใด เป็นเพียงการเชิญตัว ”บุคคลที่ถูกสงสัย” ว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมาให้ข้อเท็จจริงเท่านั้น

ดังนั้นในเมื่อยังไม่มีผู้ใดตกเป็น “ผู้ต้องหา” เจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าว

เมื่อเจ้าพนักงานไม่มีอำนาจในการเชิญตัวแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจในการควบคุมตัว หากเจ้าพนักงานจะอ้างว่าเชิญตัวมาเพื่อการสอบถามหรือซักถาม สามารถกระทำได้ กรณีดังกล่าวก็ต้องไปเข้าหลักของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ว่า ให้ถามชื่อ สกุล ที่อยู่ อายุ อาชีพ ได้เท่าที่จำเป็น ห้ามมิใหควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจําเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี เมื่อได้ข้อมูลจากการสอบถามแล้ว หากไม่มีเหตุอื่นใด ก็ต้องปล่อยตัวผู้นั้นไป

นอกจากนี้ การที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัว “ผู้ถูกเชิญ” ได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และได้ให้อำนาจในกรณีมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละ 7 วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว หากจะต้องควบคุมตัวต่อไป ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บทบัญญัติในมาตรานี้ จึงไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น

ส่วนสิทธิของผู้ถูกจับและถูกควบคุมตัวในฐานะ "ผู้ต้องหา" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว ตามมาตรา 7/1(1) สิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน ตามมาตรา 7/1 สิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร ตามมาตรา 7/1 (3) และสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ตามมาตรา 7/1 (4) นั้น

ปรากฏว่าระเบียบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กำหนดให้ได้รับการเยี่ยมจากญาติได้ทุกวันหลังจากการควบคุมตัว 3 วันแรกผ่านไปแล้ว ในระหว่างเวลา 09.30-10.00 น. และเวลา 14.30- 15.00 น. โดยให้ผู้ถูกควบคุมพบญาติที่มาเยี่ยมได้ไม่เกิน 30 นาทีต่อวัน และระเบียบดังกล่าวนี้ใช้กับสิทธิในการเข้าเยี่ยมเพื่อปรึกษาคดีของทนายความด้วย

ดังนั้น เมื่อบุคคลที่ถูกสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงย่อมไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่ต่ำกว่ามาตรฐานของสิทธิผู้ต้องหา เพราะเมื่อตกเป็น “ผู้ต้องหา” ก็ยังได้รับสิทธิในการพบญาติและทนายความหรือผู้ที่ตนจะให้เป็นทนายความ หรือผู้ที่ตนไว้ใจให้เข้าพบเพื่อปรึกษาคดีได้ทันทีที่ถูกจับกุม แต่บุคคลที่ทางราชการยังไม่ถือว่าเป็นผู้ต้องหา กลับถูกควบคุมตัว ห้ามเยี่ยมจากญาติ และไม่ได้พบและปรึกษาทนายความ










--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 9/4/2552

http://www.prachatai.com/05web/th/home/16266