วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พุทธเถรวาท จาก"เสมาหิน"

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6772 ข่าวสดรายวัน


พุทธเถรวาท จาก"เสมาหิน"





อีกครั้งที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ มูลนิธิที่มุ่งเน้นศึกษาวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จัดเสวนาน่าสนใจ และเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน

ครั้งนี้เรื่อง "พุทธเถรวาทจากเสมาหิน" โดยมีอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชื่อดัง เป็นวิทยากรเล่าถึงความเป็นมาของโบราณวัตถุ "เสมาหิน" เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับ "พุทธศาสนา" สายเถรวาท อย่างไร

อาจารย์ศรีศักรเริ่มว่า จริงแล้วเรื่องพุทธศาสนาของคนไทย ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ศัพท์คำว่า "หินยาน" หรือ "มหายาน" หรือ "เถรวาท" ในความจริงแล้วมีความหมายต่างกัน จากหลักฐานสำคัญอันหนึ่งที่พบ คือ "เสมาหิน" เป็นหลักฐานทางโบราณคดีในพุทธศาสนาที่เข้ามาประเทศไทย

ก่อนจะขยายความในลำดับต่อมาว่า คำที่เรียกว่า "เถรวาท" ที่คนไทยนับถือเป็นแบบลังกาวงศ์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาได้อิทธิพลมาจากประเทศศรีลังกา เคยเปรียบเทียบพุทธศิลป์ที่ได้จากหลักฐานที่พบในเสมาหิน ในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรคล้ายบาลี สันสกฤต

และเรื่องของพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ชาดก พระพิมพ์ที่มีรูปฤๅษี ชี ไพร ที่วัดถ้ำเสือ จ.ราชบุรี หรือพระนั่งเก้าอี้ มีความสัมพันธ์กับชาติไทยมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว อีกทั้งยังโยงไปถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อจะยืนยันว่ารัฐไทยไม่ไช่รัฐล้าหลัง มีศาสนาประจำชาติ ที่เป็นศาสนาเก่าแก่ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากที่ต่างๆ แล้วนำมาผสมผสานให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ



ดังตัวอักษร เช่น บาลีและสันสกฤต เป็นตัวอักษรที่สามารถบ่งบอกการเป็นสังคมลายลักษณ์ ชาติที่มีอารยธรรม จะเห็นได้จากลายลักษณ์ ซึ่งโยงไปถึงรัชกาลที่ 4 ก็ระบุถึงเรื่องการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทในสยามประเทศว่า มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 และระบุถึงความเจริญของสยามประเทศ ที่รื้อฟื้นไปถึงเมืองนครปฐม ที่มีพระปฐมเจดีย์ขนาดใหญ่

อาจารย์ศรีศักร อธิบายว่า พุทธศาสนาที่บอกว่าเป็นเถรวาท เข้ามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 นั้น จริงๆ แล้วเข้ามา 2 ครั้ง คือ สมัยสุโขทัย ได้รับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ และเผยแพร่ไปทั่ว นครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา ลพบุรี

ยุคที่ 2 เข้ามาโดยพระมหาธรรมราชา ยุคนี้ไม่ได้โดยตรงจากลังกา แต่ได้โดยตรงจากมอญ เข้าไปเชียงใหม่ และกลายมาเป็นพุทธศาสนาที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับเขมรและลาวด้วย

"หากพูดถึงพุทธศาสนาแบบเถรวาทในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่มาจากลังกาแท้ๆ โดยเราพบหลักฐานพุทธศาสนาในดินแดนประเทศไทยเก่าแก่กว่าที่อื่นอีก แต่เป็นที่ไหนยังไม่มีการศึกษา หรือตีความไว้ชัดเจน เวลาศึกษาชอบลากอินเดียเข้ามาเสมอ ผมมองว่าตรงจุดนั้นคือตัวปัญหา เพราะไม่มีสังคมใดที่รับวัฒนธรรมจากที่อื่นมาโดยไม่มีการประยุกต์ หรือปรับให้เข้ากับสังคมท้องที่นั้นๆ"



อาจารย์ศรีศักรกล่าว ก่อนจะย้ำว่า จากหลักฐานที่พบ เถรวาทเข้ามาในประเทศไทยจริง แต่ไม่ได้เข้ามาทั้งหมดจากอินเดีย

ส่วนใหญ่นักวิชาการมักจะชอบพูดกันว่ามาจากอินเดีย โดยไม่มีการปรุงแต่งให้กับท้องถิ่นนั้นๆ เลย แต่จากหลักฐานแล้วพบว่าผสมกับของเก่าที่มีอยู่ จึงเกิดการผสมผสานกับท้องถิ่น ดังเช่น นับถือ "ผี" บ้าง หรือนับถือ "พุทธ" บ้าง

อาจารย์ศรีศักรขยายความตรงนี้ว่า พอถึงเวลามีเหตุการณ์อะไรสำคัญๆ พระมหากษัตริย์ก็จะทำสังคายนา ปรับ ใหม่ให้ถูกต้อง เราก็สังคายนามาหลายครั้งแล้ว และครั้งสุดท้ายจากหลักฐานที่พบ คือรัชกาลที่ 1 ที่สังคายนาพระไตรปิฎก และพูดถึงเรื่องกฎหมายของพระสงฆ์ด้วย

ส่วนเสมาหินนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร อาจารย์ศรีศักรชี้ว่า จากหลักฐานโบราณคดีที่พบเสมาหินจำนวนมาก มีมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 11-12 ความเก่าแก่ของเสมาหิน ที่พบคือในภาคอีสาน เพราะมีระบบหินตั้งให้เห็นอยู่ การศึกษาประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนาทางภาคอีสานนี้ ย้อนให้เห็นความเจริญของบ้านเมืองสมัยเมื่อ 500 ปี ก่อนพุทธกาล ที่ดินแดนของประเทศไทยมีความเจริญแล้ว

จากหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีคลี่คลายว่า 500 ปีก่อนพุทธกาล ดินแดนเขตนี้มีรัฐเล็กๆ ที่มาจากการรวมตัวของหลายเผ่าพันธุ์ มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง เช่น การถลุงโลหะ หรือการขุดพบเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย มีคนนอกเดินทางเข้ามาค้าขายทั้งทางทะเลและทางบก

คนที่เข้ามามีหลากหลาย ทั้งพระ พราหมณ์ เข้ามาสัมพันธ์กับหัวหน้ารัฐ คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นนักปราชญ์ ราชครูจากอินเดียมาเป็นที่ปรึกษา การจะให้เป็นที่ยอมรับได้ ก็ต้องมีภาษากลางสื่อสาร ซึ่งในทางพุทธศาสนาก็มีภาษาบาลี และสันสกฤต และใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนจะอธิบายต่อว่า ดังโบราณวัตถุหลายแห่งในอีสาน เช่น เนินดิน หลุมศพ รวมทั้งสิ่งของที่อยู่บนตัวศพ กระดูก และมีหินตั้ง ปักไม่เป็นระเบียบ จะเห็นว่ามีการแบ่งเขตศักดิ์สิทธิ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะภาคอีสาน

เสมาหินสลักเป็นรูปสัญลักษณ์พระสถูปเจดีย์ เป็นพุทธประวัติ หรือเป็นชาดก เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาทั้งสิ้น และมีการปักอย่างเป็นระเบียบ 8 ทิศ

"หากดูโบสถ์ในเมืองไทยขณะนี้ การจะเป็นโบสถ์ต้องมีพุทธเสมาปัก 8 ทิศเช่นกัน มีนักวิชาการถกเถียงกันมานานว่ามาจากอินเดียบ้าง หรือลังกาบ้าง แต่จากที่ผมไปทั้ง 2 ที่ไม่พบ เผอิญผมไปสำรวจโบราณคดีในภาคอีสานมีลักษณะคล้ายๆ จึงเห็นว่าเสมาหินพัฒนาขึ้นในดินแดนประเทศไทยโดยตรง ในภาคอีสาน จึงเกิดภาพสลักเสมาหินขึ้น"

ก่อนที่อาจารย์ศรีศักรจะสรุปว่า พุทธศาสนาที่เรานำมานั้น ถูกปรับและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย และผสมผสานกับท้องถิ่นเข้าด้วยกัน

หน้า 6