วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โรคเท้าช้าง

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6776 ข่าวสดรายวัน


โรคเท้าช้าง


คอลัมน์ที่ 13



ข่าวการพบหญิงสาวป่วยเป็นโรคประหลาด เท้าใหญ่โตผิดปกติ นิ้วเท้าก็ใหญ่ผิดรูป ที่จังหวัดระยอง

แพทย์ระบุว่าคล้ายกับโรคเท้าช้าง

โรคเท้าช้างเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง มียุงบางชนิดที่มีพยาธิตัวกลมอาศัยอยู่เป็นพาหะ พบได้มากในเขตร้อน

เป็นโรคที่กลับมาระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากหายไปพักใหญ่

เนื่องจากมีการเดินทางไปมาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแถบประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดอยู่ ทำให้พาเชื้อกลับเข้ามาใหม่

ประเทศที่พบโรคเท้าช้างมีทั้งสิ้น 73 ประเทศ มี 38 ประเทศในทวีปแอฟริกา 7 ประเทศในทวีปอเมริกา 4 ประเทศในแถบยุโรป 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 16 ประเทศในกลุ่มประเทศภาคพื้นแปซิฟิกฝั่งตะวันตก

ประเทศที่มีผู้ป่วยโรคเท้าช้างมากที่สุดคืออินเดีย คาดว่ามากถึง 45.5 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยหากเป็นพื้นที่จังหวัดติดชายแดนพม่า จะเป็นเชื้อ Wuchereria bancrofti เกิดจากยุงรำคาญ ยุงลายบางชนิด

หากเป็นแถบจังหวัดภาคใต้ จะเกิดจากเชื้อ Brugia malayi เกิดจากยุงลายเสือ

พยาธิดังกล่าวจะอาศัยอยู่ในคนเท่านั้น โดยเชื้อจะเข้าท่อน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง และอยู่ในร่างกายคนได้ 4-6 ปี ออกลูกออกหลานเป็นล้านตัวเข้ากระแสเลือด

เมื่อยุงกัดคนที่เป็นและรับเชื้อไป แล้วไปกัดคนอื่นจะปล่อยเชื้อแพร่ออกไป

อาการของผู้ป่วย แบ่งเป็นหลายแบบ

อาการแบบเฉียบพลันจะมีการอักเสบของต่อมและทางเดินน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ปวด มีไข้ จะตรวจพบเชื้ออวัยวะต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ บริเวณขา ช่องท้องด้านหลัง ท่อนำเชื้ออสุจิ แหล่งพักน้ำเชื้อและเต้านมผิวหนัง โดยผู้ป่วยส่วนมากมีอาการลมพิษด้วย

ตำแหน่งที่หลอดน้ำเหลืองอุดตันจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ เกิดบวมแข็ง ผื่นแดง หลอดน้ำเหลืองจะโป่งมีน้ำเหลืองคั่งอยู่ คลำได้เป็นก้อนขรุขระ

อาการเรื้อรัง หากเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ B. malayi จะมีอาการแสดงที่สำคัญ คือ ขาโต โดยมีพยาธิสภาพตั้งแต่ใต้เข่าลงไป และบางครั้งก็จะพบที่แขนตั้งแต่ใต้ข้อศอกลงไป

ส่วนผู้ที่ติดเชื้อ W. bancrofti จะเกิดพยาธิสภาพที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้ ถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะพบอาการบวมของช่องคลอดและที่หน้าอก ส่วนในผู้ชายพบว่ามีการคั่งของน้ำเหลืองในอัณฑะ

รายที่เกิดภาวะเท้าช้างพบว่าร้อยละ 95 จะเป็นที่ขากับอวัยวะเพศ บริเวณที่พบน้อยรองลงไป ได้แก่ ที่แขนและเต้านม

อาการเท้าบวมที่เรียกว่าภาวะเท้าช้าง (elephantiasis) เกิดจากการตายของตัวพยาธิในท่อน้ำเหลือง ทำให้ร่างกาย ทำปฏิกิริยาต่อสิ่งแปลกปลอม จนทำให้เกิดภาวะอุดตันของท่อน้ำเหลือง

สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยา และการผ่าตัด ท่อน้ำเหลืองที่อุดตัน

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยคือต้องตัดเล็บมือ เล็บเท้า ให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันรอยเกาถลอกที่ผิวหนังเมื่อเกิดอาการคัน ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับอวัยวะบวมโต นวดบริเวณที่บวมโตเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียน และลดการคั่งของน้ำเหลือง

การป้องกันการติดเชื้อคือหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดโดยนอนในมุ้ง สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด สุมไฟไล่ยุง หรือทายาป้องกันยุง คว่ำภาชนะและวัสดุที่มีน้ำขัง ใช้ฝาปิดภาชนะรองรับน้ำป้องกันยุงวางไข่

ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อป้องกันยุงวางไข่

เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคได้แล้ว

หน้า 6