วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

พิธีบูชากบ-คางคก-คันคาก ของพวกชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน


พิธีบูชากบ-คางคก-คันคาก ของพวกชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



ส้วม ออกเสียงอย่างไทยๆ แต่ส่วม ออกเสียงอย่างลาวๆ นานเข้าก็ออกเสียงปนกันเป็นอย่างเดียวว่า ส้วม

ส่วม เป็นรูปดั้งเดิม ออกเสียงดั้งเดิม เป็นคำในตระกูลภาษาไทย-ลาวดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว หมายถึงห้องนอนของลูกสาว

ลูกสาวดั้งเดิมเป็นผู้สืบสกุล เป็นผู้ดูแลเรือนและที่ดิน เป็นผู้ดูแลผีเรือน จึงต้องมีห้องนอนต่างหากโดยเฉพาะ แล้วมีข้อห้ามสำคัญ คือคนนอกตระกูลเข้าห้องนี้ไม่ได้ เพราะเป็นห้องส่วนตัว

คนในกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็รักษาประเพณีส่วมเป็นห้องส่วนตัว

เมื่อไม่นานมานี้ชาวบ้านในเมือง "กุวาฮาตี" ทางเหนือของประเทศ "อินเดีย" ได้จัดงานแต่งงานอย่างยิ่งใหญ่ให้กับเจ้ากบตัวน้อย โดยหวังว่าพิธีวิวาห์นี้จะทำให้พระเจ้าประทานฝนลงมาให้หลังจากเกิดภัยแล้ง

งานนี้มีสักขีพยานกว่า 2,000 คน ที่มาร่วมฉลองให้เจ้าสาวกบ "บิจูลี" และเจ้าบ่าวกบ "บารัน" โดยในงานเลี้ยงของพิธีวิวาห์ เจ้ากบทั้ง 2 ตัว ก็จะได้กินอาหารแบบพิเศษเป็นแมลงวันและยุงอย่างจุใจ

ทางโฆษกของหน่วยราชการท้องถิ่นเปิดเผยว่าการแต่งงานในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะพื้นที่ในเมือง "กุวาฮาตี" กำลังประสบปัญหาฝนแล้งเรื้อรัง

"เราหวังว่าฝนจะตกมาตอนนี้ เพราะพื้นที่ของเราแล้งเหลือเกิน เราต้องการฝน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้มากไปกว่านี้" โฆษกของหน่วยราชการท้องถิ่นกล่าว (รูปและคำอธิบายจาก บางกอกทูเดย์ ฉบับวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2552 หน้า 10)


ครั้นรับ "ห้องน้ำ" คือห้องขี้เยี่ยวอาบน้ำจากฝรั่ง เรียก Private Room หรือ Toilet ยังไม่รู้จะแปลคำฝรั่งเป็นคำไทยอย่างไร เลยเรียกห้องนั้นว่า ส่วม แล้วเพี้ยนเป็น ส้วม สืบมาถึงทุกวันนี้

ฉะนั้น ชื่อ ผาส่วม ในลาว ถ้าออกเสียงอย่างไทยๆก็คือผาส้วมนั่นแหละ แต่ลาวยังรักษาความหมายเดิมว่าส่วม หรือส้วมคือห้องหอ (เสียงกระซิบ---ที่ผาส่วม ในมติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552 หน้า 9)

ส่วนรูปประกอบที่เอามาลงให้ดูนี้ เป็นประเพณีพิธีกรรมบูชากบศักดิ์สิทธิ์ของชาวอาหมในแคว้นอัสสัมของอินเดีย มีเมืองเกาหะตีหรือกุวาฮาตีเป็นเมืองหลวง เป็นพวกพูดภาษาตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายหนีความขัดแย้งไปจากลุ่มน้ำ สาละวินในพม่า

แคว้นอัสสัมอยู่ลุ่มน้ำพรหมบุตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อยู่ติดกับแคว้นนาคาแลนด์ (ชนเผ่านาค) ที่มีพรมแดนติดกับพม่าและจีน ชื่ออัสสัมตรงกับคำว่า สยาม

อัสสัมและนาคาแลนด์ ยุคดึกดำบรรพ์ราว 2,000 ปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ ถือเป็นดินแดนตะวันตกสุดของสุวรรณภูมิ มีวัฒนธรรมฆ้อง คือมโหระทึกเช่นเดียวกับสุวรรณภูมิ

มโหระทึก มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลองกบ เพราะมีกบอยู่หน้ากลอง 4 ทิศ บางทีกบซ้อนกันเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมเพศเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพวกจ้วงในมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง ซึ่งเป็นดินแดนตะวันออกสุดของสุวรรณภูมิ มีประเพณีบูชายัญกบเพื่อให้มีพลัง แล้วเป็นแหล่งผลิตกลองกบ

กลุ่มชาติพันธุ์สุวรรณภูมิราว 2,000-3,000 ปีมาแล้ว ล้วนบูชากบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์ที่บันดาลให้ฝนตก เช่นเดียวกับชาติพันธุ์สองฝั่งโขง ยกย่องนับถือพญาคันคาก(คางคก) ตระกูลครึ่งบกครึ่งน้ำเหมือนกบ เป็นสัตว์ขอฝนในตำนานจุดบั้งไฟของฝนของตระกูลไทย-ลาวทั้งสุวรรณภูมิ

หน้า 21