วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

บทบาท 'พตท.' กับภารกิจดับไฟใต้

วันที่ 23 เมษายน 2552 เวลา 00:02 น. |
 
 
บทบาท 'พตท.' กับภารกิจดับไฟใต้
แก้ปัญหาความไม่สงบในหมู่บ้าน
สถานการณ์ความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ได้เกิด "จำเลย" ทาง "สังคม" ขึ้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความรุนแรงของสถานการณ์ จำเลยเหล่านั้น อาทิ ชาวมุสลิมในพื้นที่ ที่ถูกมองว่า สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน และไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน ซึ่งถูกมองว่า เสนอข่าวด้านเดียวทำให้สังคมเห็นเพียงภาพของความโหดร้ายรุนแรง อย่างต่อเนื่อง และ จำเลยสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ที่ยังใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการต่อประชาชน และฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งยังไม่สามารถ "เข้าใจ เข้าถึง ปัญหาอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถดึงมวลชน" ในพื้นที่ ให้หันมาร่วมมือกับรัฐ เป็นเหตุให้ "สันติสุข" ยังไม่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
หน่วยงานหลัก ในการปฏิบัติการทั้งทางการเมือง และทางยุทธวิธี ในการสร้าง "สันติสุข" ให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ พตท. หรือ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งมี พล.ท.กสิกร คีรีศรี เป็นผู้บัญชาการ หรือ ผบ.พตท. ซึ่งตกเป็น "จำเลย" ของสังคมว่า ทำไม พตท. จึงยังไม่สามารถ "จัดการ" ดับ "ไฟใต้" ให้ได้ ทั้งที่มีการทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่นับ 100,000 นาย พร้อมงบประมาณมหาศาล เพื่อสร้างความสงบให้เกิดขึ้น
 
โดย พล.ท.กสิกร ได้เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 3 คือการเน้นหนักงานด้านมวลชน โดยการส่งทหารชุด พัฒนาสันติ เข้าไปทำหน้าที่ ในหมู่บ้านจำนวน 217 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้าน "เป้าหมาย" โดยกำลังผสมชุด พัฒนาสันติ จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชน ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน การพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งของประชาชน และเยาวชน
 
จากการที่เราได้แก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมา 4-5 ปี เราพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า การที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถขับเคลื่อนไปได้คำตอบอยู่ที่ "หมู่บ้าน" ร้านน้ำชา สถานศึกษา มัสยิด วิธีการของฝ่ายก่อความไม่สงบจะประสบความ "สำเร็จ" หรือ "ล้มเหลว" คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ "ประชาชน" ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกับ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ที่ผ่านมา หนึ่งเดือนมี 30 วัน เจ้าหน้าที่รัฐอยู่กับประชาชน 1 วัน อีก 29 วัน ประชาชนอยู่กับ "แนวร่วม" ขบวนการ จึงทำให้การแก้ปัญหา ทำไม่สำเร็จ ไม่สามารถ "แยกปลาออกจากน้ำ" อย่างได้ผล เมื่อเรามีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าคำตอบอยู่ที่ "หมู่บ้าน" ภารกิจของ พทต.จึงต้องรุกคืบลงไปที่หมู่บ้าน สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับ "มวลชน" ผ่านงาน "พัฒนา" แทนการรุกรบ        ด้วยอาวุธ โดยหัวหอกสำคัญคือ "หน่วยพัฒนาสันติ" ที่ถูกขนานนามว่า "ผู้กล้าพวกแรก วัคซีนตัวสำคัญ บ้านหลังใหญ่ใจดี เศรษฐีด้วย"
 
แม้จะมีการมองว่า สถานการณ์ความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริง และตัวเลขของการเกิดเหตุ จะเห็น       ว่าจำนวนการก่อเหตุลดน้อยลง เพราะ     เราสามารถควบคุมพื้นที่ ซึ่งเคย   เป็นฐานที่มั่นของแนวร่วมได้ทั้งหมด ทำให้การก่อเหตุทำ ได้ยากขึ้น ถ้าเราสามารถสร้างความมั่นใจ    ให้กับประชาชนถึงความปลอดภัย ลดความหวาดระแวง และมองเห็นความจริงใจของรัฐ เปลี่ยนทัศนคติของผู้ที่มีอคติต่อเจ้าหน้าที่และต่อรัฐ อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้หลงผิด ให้ออกมามอบตัว เรื่องสำคัญคือเรื่อง จิตวิทยามวลชน ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำกันแค่ 3 เดือน 6 เดือน อย่างในอดีต แต่ต้องทำระยะยาวเป็น 2 ปี 3 ปี หรือมากกว่านั้นก็ต้องทำ เช่นเดียวกับงานด้านยุทธการ การตรวจค้น ติดตาม แนวร่วม กลุ่มติดอาวุธ ก่อวินาศกรรม ซึ่งหลังจากที่ เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลหมู่บ้านทั้ง 217 หมู่บ้าน การติดตาม จับกุม แนวร่วมติดอาวุธ ทำได้มากขึ้น และได้ผลที่น่าพอใจ เพราะแนวร่วม กลุ่มติดอาวุธ ไม่สามารถอาศัยมวลชน อาศัยหมู่บ้านเป็น "หลังพิง" อย่างในอดีต
 
วันนี้เราไม่มีการแบ่งสีของหมู่บ้านว่าเป็น สีแดง สีเหลือง สีเขียว มีแต่หมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข 217 หมู่บ้าน ในส่วนของหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ยังไม่มีความรุนแรงของปัญหา หน่วยงานอื่น ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน และสร้างความเข้มแข็ง ให้ผู้นำและประชาชน ในด้านการรักษาความสงบ สำหรับหมู่บ้านทั้ง 217 หมู่บ้าน ใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เราคงจะไม่ตั้งเป้าหมายว่า จะใช้ เวลาเท่าไหร่ในการสร้างสันติสุขให้เกิด        ขึ้น แต่จะมีการประเมินเป็นระยะ ๆ แต่เชื่อว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้น        ไป ในการทำให้หมู่บ้านทั้งหมดเป็นชุมชนเข้มแข็ง
 
สำหรับบทบาทของผู้นำศาสนา ซึ่งถูกมองว่า มีบทบาทมากในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น พล.ท.กสิกร กล่าวว่า พตท. ไม่เคยคิดว่าผู้นำศาสนา เช่น อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เป็นคนของฝ่ายขบวนการ หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ที่ผ่านมา เรายังเข้าไม่ถึงปัญหา เข้าไม่ถึงหมู่บ้าน เมื่อเราส่งหน่วยพัฒนาสันติเข้าไป ก็มีการพูดคุย สร้างความเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ ทำให้เขาเห็นถึงความตั้งใจจริงในการสร้างความสงบสุขให้กับหมู่บ้านของเขา เรารู้หมดว่า ใครที่ไหน ทำอะไร ดังนั้นเรื่องบางอย่างอาจจะแก้ได้เร็ว บางอย่างอาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งก็ต้องรอ เพราะปัญหาความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เกิดเมื่อปี 2547 แต่เกิดมาเป็นร้อย ๆ ปี  มีการแก้ไขปัญหากันมาโดยตลอด อยู่ ๆ จะให้สงบทันทีคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราเชื่อมั่นว่า วิธีการที่ใช้เป็นวิธีการที่ถูกต้อง สถานการณ์จะต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมจะพิสูจน์ได้เอง
 
และทั้งหมดนี้คือแนวทางของ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งเป็น  "หัวหอก" ในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ฝากความ "สำเร็จ" หรือ "ล้มเหลว" ในการดับ "ไฟใต้" ไว้ที่         "หน่วยสันติพัฒนา" ซึ่งก็ได้แต่เชื่อมั่นว่า ครั้งนี้ กอ.รมน.ภาคที่ 4 ส่วนหน้า คงจะเดินมาถูกทางแล้วอย่างแท้จริง.
 
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197032&NewsType=1&Template=1


Windows Live™ Hotmail®:…more than just e-mail. Check it out.