วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พระลอ, เวียงลอ ที่พะเยา จากคำเขมร "ลออ"-หล่อ, งาม

 
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11447 มติชนรายวัน


พระลอ, เวียงลอ ที่พะเยา จากคำเขมร "ลออ"-หล่อ, งาม


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



ชื่อ ลอ ของพระลอ แปลว่า หล่อ, งาม มีรากจากคำเขมรที่ไทยรับมาเขียนว่าลออ

พระลอ มี 2 คำ คือ พระ กับ ลอ

พระ เป็นคำนำหน้าชื่อเทพเจ้า, พระราชา, พะราชาคณะ, เช่น พระอินทร์, พระนเรศวร, พระวินัยเวที, เป็นต้น

ลอ มาจากคำเขมรเขียน ลฺอ (มีจุดใต้ตัว ล)อ่านว่า ละ-ออ หรือ ลฺ-ออ หมายถึง งาม แล้วไทยรับมาเขียน ลออ แผลงเป็น หล่อ นี่อาจเป็น"ภาษาร่วม"ของสุวรรณภูมิตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็ได้ โดยยังไม่แยกเป็นคำของใครชัดเจน

เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น ผมขอคัดคำอธิบายจากหนังสือพจนานุกรมเขมร-ไทย (เล่ม 4) ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2525 มาดังนี้

ลฺอ (ลฺออ) สวย งาม ดี น่า เช่น จิตฺตลฺอ (เจ็ดลฺออ) ใจดี รูปลฺอ (รูปลฺออ) รูปสวย อํเพีลฺอ (อ็อมเปอลฺออ) ความประพฤติดี สมฺฏีลฺอ (ซ็อมเต็ยลฺออ) ถ้อยคำไพเราะ ปฺรพฺรึตฺตลฺอ (ปฺรอพฺรึด ลฺออ) ประพฤติดี กรรมดี การทำดี นิยายลฺอ (นิเยียวลฺออ) พูดดีพูดเพราะ เธฺวีการลฺอ (ทฺวอการ์ ลฺออ) ทำการทำงานดี ลฺอชา (ลฺออเจีย) ซื่อตรง ถูกต้อง เรียบร้อย เช่น มนุสฺสลฺอชา (มะนุส์ลฺออเจีย) คนซื่อตรง สมฺฏีลฺอชา (ซ็อมเต็ยลฺออเจีย) คำพูดซื่อๆ คำพูดที่ถูกต้อง ลฺอเมีล (ลฺออเมิล) น่าดู ลฺอสี (ลฺออซี) น่ากิน ลฺอลฺอาจ่ (ลฺออลฺอัจ) สวยเหมาะเจาะ สวยงาม สวยหมดจด เช่น รูปรางลฺอ ลฺอาจ่ (รูปเรียงลฺออลฺอัจ) รูปร่างสวยเหมาะเจาะ เธฺวี-การลฺอลฺอาจ่ (เทฺวอการ์ลฺออลฺอัจ) ทำงานเรียบร้อย ลฺอลฺอิต (ลฺออเลฺอ็ด) สวยหมดจด สวยงามละเอียดลออ เช่น รูปโฉมลฺอลฺอิต (รูปโซม ลฺออเลอ็ด) รูปโฉมสวยหมดจด เธฺวีการโอยลฺอลฺอิต (เทวฺอการ์ออยลฺออเลฺอ็ด)ทำงานให้เรียบร้อยละเอียดลออ ลฺอลฺอะ (ลฺออลฺอะห์) สวยผุดผ่อง เช่น รูปโฉมลฺอลฺอะ (รูปโซมลฺออลฺอะห์) รูปโฉมสวยผุดผ่อง (ในกาพย์กลอน ใช้ ลฺอะลฺอ ก็ได้)

ห้องแสดงหลักฐานเกี่ยวกับเวียงลอ และนิทรรศการเรื่องพระลอ ที่ อ.จุน จ.พะเยา ภาพนี้ถ่ายเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมานี้เอง


ลาวมีคำว่า ลอ แต่หมายถึง บ่างจำพวกหนึ่งมี 2 ชนิด คือบ่างเล็กกับบ่างใหญ่ แล้วยังหมายถึง ตาที่ส่อนหรือถั่วเล็กน้อย (สรุปจากสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของ ปรีชา พิณทอง พิม์ครั้งแรก พ.ศ.2532)

พระเพื่อน, พระแพง สองสมรของพระลอ คำว่า เพื่อน, แพง มีความหมายว่ารักทั้งคู่

เพื่อน หมายถึง ผู้รักใคร่กัน, อยู่ด้วยกัน ส่วน แพง หมายถึง รัก, หวงแหน

พระลอเป็นภาคจบของตำนานท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ไม่มีเรื่องจริง แต่ใช้ฉากภูมิประเทศจริงๆ ของล้านนากับล้านช้าง กล่าวคือพระลออยู่หลวงพระบาง (ล้านช้าง) ส่วนพระเพื่อนพระแพงอยู่พะเยา (ล้านนา)

แม่น้ำกาหลงในพระลอ คือแม่น้ำโขง เพราะคนพื้นเมืองเรียกแม่น้ำเก้าลวง (หมายถึงนาค 9 ตัว) แล้วเพี้ยนเสียงเป็นกาหลง

เวียงลออยู่ริมน้ำอิงที่ อ. จุน จ. พะเยา ควรหมายถึงเวียงงามหรืออย่างอื่นๆ มากกว่าจะหมายถึงเวียงของพระลอ เพราะพระลอเป็นเจ้าครองเมืองกาหลง หมายถึงหลวงพระเบาง หรือเดิมเรียกเชียงดงเชียงทอง แต่เวียงลอที่พะเยาถูกลากเข้าตำนานเรื่องพระลอโดยคนสมัยหลัง ผ่านระบบโรงเรียนที่รู้วรรณคดีลิลิต พระลอตามกระแสหลักแล้ว

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03130752&sectionid=0131&day=2009-07-13

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.pnac-th.org
http://dbd-52.hi5.com