วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รู้จักกลิ่นปาก...พร้อมกลเม็ดพิชิตกลิ่น

http://www.thairath.co.th/content/life/21482

รู้จักกลิ่นปาก...พร้อมกลเม็ดพิชิตกลิ่น

Pic_21482

สาเหตุของกลิ่นปาก ส่วนใหญ่เกิดจากเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน บริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก หรือในรูฟันผุ ซึ่งจะมีเศษอาหารเน่าอยู่ รวมทั้งแผ่นคราบฟันและหินปูนที่อยู่รอบๆ ฟัน ซึ่งเป็นที่เก็บกักและสะสมเชื้อโรคต่างๆ บางคนพบว่าเหงือกเป็นหนองจากโรคปริทันต์ หรือมีฟันโยก อาหารบางชนิดเมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น หัวหอม กระเทียม ทุเรียน ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลายๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคทางร่างกายบางอย่าง เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง วัณโรค โรคปอด และโรคระบบทางเดินอาหาร
ภายหลังตื่นนอนใหม่ๆ กลิ่นปากจะแรง เพราะในขณะที่นอนหลับน้ำลายจะถูกขับออกมาน้อย ทำให้น้ำลายมีการหมุนเวียนน้อย เศษอาหารที่ตกค้างสะสมอยู่จึงมีการบูด เกิดเป็นกลิ่นปากค่อนข้างแรง

เมื่อตื่นนอนได้แปรงฟัน และน้ำลายมีการไหลเวียนมากขึ้น กลิ่นปากก็บรรเทาลง น้ำลายเปรียบเสมือนน้ำยาบ้วนปากที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกภายในช่องปาก เมื่อมีน้ำลายหลั่งออกมากทำให้ช่องปากสะอาดมากกว่าน้ำลายที่หลั่งออกมาน้อย ช่วยลดการบูดเน่าของอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น น้ำลายจะหลั่งออกมาได้มากในขณะเคี้ยวอาหาร รับประทานของเปรี้ยว หรือการคิดถึงอาหารอร่อยๆ ที่ชอบ ในบางขณะจะมีการหลั่งน้ำลายน้อย เช่น เวลานอน ภาวะอดอาหาร การดื่มน้ำไม่เพียงพอ อากาศร้อน ตลอดจนภาวะทางจิตใจ ความเครียด อาชีพที่ใช้เสียงมากๆ เช่น ครู ทนายความ มีผลให้มีน้ำลายน้อย และมีกลิ่นปากได้

กลิ่นเหม็นจากช่องปากบางครั้งเกิดขึ้นได้จากโคนลิ้นด้านในสุด เนื่องจากมีน้ำเมือกในช่องจมูกไหลลงคอ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ ไม่จำเป็นว่าจะเกิดจากการเจ็บป่วยหรือเป็นโรค แต่มักมีสาเหตุมาจากอาการภูมิแพ้ น้ำเมือกที่ไหลลงคอในระยะแรกๆ จะไม่ทำให้เกิดกลิ่นปาก สัก 2-3 วัน แบคทีเรียจะย่อยน้ำเมือกทำให้เกิดกลิ่น เราสามารถทดสอบกลิ่นโดยใช้ช้อนพลาสติกขูดเบาๆ ที่ด้านในสุดของโคนลิ้น ปล่อยทิ้งไว้สักครู่จึงดมดู และกรณีคนที่มีกลิ่นปากจากสาเหตุนี้ เวลาเป่าปากจะไม่ค่อยได้กลิ่น แต่จะเหม็นเมื่อเริ่มพูด เนื่องจากมีลมผ่านลิ้นที่เคลื่อนไหวจึงทำให้เกิดกลิ่นขึ้นมา ดังนั้น จึงควรแปรงลิ้นหลังการแปรงฟันทุกครั้ง และแปรงให้ลึกถึงโคนลิ้น จะช่วยทำความสะอาดน้ำเมือกที่ตกค้างนี้ได้

สรุปว่ากลิ่นปากเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุหากแก้ไขที่ต้นเหตุได้ก็จะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด เพราะการใช้ของสำเร็จรูปนั้นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและชั่วคราวเท่านั้น

สำหรับกลิ่นปากในเด็ก ท่านผู้ปกครองไม่ต้องกังวลว่าจะเด็กจะมีโรคเหมือนผู้ใหญ่ เพราะว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของกลิ่นปากเกิดจากในปาก สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ สุขอนามัยไม่ดี มีเศษอาหารและเชื้อแบคทีเรียเหลือตามซอกฟัน เด็กมักจะมีกลิ่นมากมากในตอนเช้า หากเป็นมากจะมีตอนสาย บางรายเด็กไม่มีอาการปวดฟันแต่มีฟันผุ ที่พบบ่อยคือไซนัสอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังสามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ นอกจากกลิ่นปากเด็กโดยมากจะเกิดอาการ น้ำมูกไหล ไอกลางคืน คออักเสบ เด็กจะมีไข้เจ็บคอ และมีกลิ่นปาก โรคภูมิแพ้ทำให้มีเสมหะไหลไปที่คอทำให้เกิดกลิ่นปาก ท่านผู้ปกครองควรสอนให้เด็กแปรงฟัน และล้างปาก เลือกแปรงที่มีขนาดเหมาะกับปากและมีขนอ่อนนุ่มพอควรพร้อมยาสีฟัน ยาสีฟันควรมีสารฟลูออไรด์ ควรแปรงฟันพร้อมเด็ก ให้เด็กแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง สอนเด็กใช้ไหมขัดฟัน หากเห็นเศษอาหารติดที่คอก็ให้เด็กกรวกคอบ้วนปากทันที

กลเม็ดพิชิตกลิ่นปาก

  1. อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะเมื่อปากแห้งความเข้มข้นของแบคทีเรียในปากจะเพิ่มมาก ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยล้างแบคทีเรียออกจากน้ำลาย
  3. แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และอย่างลืมแปรงด้านบนของลิ้น อันเป็นที่เกิดของแบคทีเรียด้วย
  4. ใช้ไหมขัดฟันวันละ 2-3 ครั้ง
  5. ถ้าไม่สะดวกจะแปรงฟัน ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำยาบ้วนปาก
  6. เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีน้ำตาล
  7. เคี้ยวใบผักชีฝรั่งหรือกานพลูหลังมื้ออาหาร
  8. งดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หอมใหญ่ พริกไทย และเนยแข็ง
  9. หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
  10. กินอาหารให้ครบหมู่ แม้ว่าคุณจะกำลังลดความอ้วนอยู่ก็ตาม
  11. เลิกสูบบุหรี่
  12. ตรวจสุขภาพฟันสม่ำเสมอ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

http://www.bangkokhospital.com

http://www.bangkokhealth.com


--
      Weblink
http://ilaw.or.th
www.patani-conference.net
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.bedo.or.th/default.aspx
http://weblogcamp2009.blogspot.com
http://seminarmon.blogspot.com
http://seminartue.blogspot.com
http://seminarwed.blogspot.com
http://seminarthu.blogspot.com
http://seminarfri.blogspot.com
http://seminar1951.blogspot.com
http://seminardd.com