ความถ่อมตน
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ยามฝนจะตกเมฆคล้อยลงต่ำ
สัตบุรุษผู้ทรงธรรมไม่หยิ่งเพราะศฤงคาร
ยิ่งมีมากยิ่งให้ทานช่วยเหลือคนอื่น
ข้อเปรียบเทียบนี้ได้ภาพพจน์ดี คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนนั้นทำตัวไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ผลดกโน้มกิ่งลง ไม่เย่อหยิ่ง จองหอง "น่าเตะ" เหมือนคนกระด้างถือตัว พูดถึงคนประเภทหลังนี้ทำให้นึกเห็นภาพแมลงป่องที่ "ชูแต่หางเองอ้าอวดอ้างฤทธิ์" ทั้งที่ไม่มี "ฤทธิ์" อะไรจะอวด
โลกมันไม่พอดีครับ คนที่ไม่มีอะไรก็มักอยากอวดว่าตัวมีอะไรมากมาย ส่วนคนที่เขามีพร้อมทุกอย่างมักจะไม่อวด ดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
พระองค์ทรงค้นพบสัจธรรมสูงสุดด้วยตนเอง เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครสอน กระนั้นพระองค์ก็ยังทรง "ถ่อมพระองค์" ยกธรรมให้เป็นใหญ่ ทรงเคารพพระธรรม เวลาสาวกสวดธรรมหรือแสดงธรรม พระพุทธองค์ทรงฟังด้วยความเคารพ
พระองค์ทรงสอนว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอุดมมงคล หรือเป็นสิ่งที่นำพาชีวิตไปสู่ความเจริญงอกงามอย่างหนึ่ง
ความถ่อมตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความกระด้าง (ภาษาบาลีว่า ทัปปะ) ความกระด้างหรือความเย่อหยิ่งจองหองของปุถุชนมักมาจากเรื่องชาติ โคตร ทรัพย์ เป็นสำคัญ ถ้าเกิดในตระกูลสูง โคตรเหง้าเหล่ากอมีชื่อเสียง แถมมีเงินเป็นถุงเป็นถัง โอกาสที่จะเย่อหยิ่งผยองก็มีมากขึ้น
ถ้าเป็นลูกตาสีตาสาไร้การศึกษา แถมยากจนอีกต่างหาก (ตาสีตาสาที่ร่ำรวยไม่ค่อยมีอยู่แล้ว) ไม่ต้องร้อง "คนจนมีสิทธิไหมครับๆ" ให้เมื่อยปาก ไม่มีสิทธิมาสะเออะหน้าโอ้อวดใครอยู่แล้ว ทางที่ดีให้อ่อนน้อมถ่อมตน ทำตนให้น่าสงสารเข้าไว้
ไม่เพียงชาติ โคตร ทรัพย์ เท่านั้น ความรู้หน้าที่การงานยศศักดิ์อัครฐาน เป็นต้น ก็เป็นสาเหตุให้คนกระด้างถือตัวได้ง่ายเช่นกัน เช่น มีตำแหน่งสูงส่งระดับรัฐมนตรี รัฐมนโท ก็มักจะลืมว่า คนอื่นที่ด้อยฐานะโอกาสกว่าตัวก็เป็นคนเหมือนกัน ถือตัวว่าเหนือกว่า ดีกว่า ถูกกว่าคนอื่น ใครไปตอแยเข้าอาจโดนเตะตกเรือนเอาง่ายๆ
ที่พูดนี้ก็ใช่ว่า คนที่มีชาติตระกูลสูง มีการศึกษาดี มีหน้าที่การงานสูง ฯลฯ จะเป็นคนเย่อหยิ่งจองหองทุกคนก็หาไม่ คนที่มีข้อได้เปรียบทางสังคมเหล่านี้มากมายที่ยิ่งมีมากยิ่งอ่อนน้อมถ่อมตน น่าเคารพนับถือจริงๆ
คนที่ไม่มีอะไรเลย ใช่ว่าจะไม่เย่อหยิ่งจองหองก็หาไม่อีกเช่นกัน ประเภทหลังนี้ก็มี "ตัวดี" มิใช่ย่อย ทั้งที่ไม่มีอะไรมากนี่แหละ แกก็หาเรื่องอวดโม้จนได้ ลงคนจะคุยโม้โอ้อวดถือตัวแล้ว ไม่ต้องถึงเป็นรัฐมนตรีดอก แค่เลขาฯรัฐมนตรี หรือคนถือกระเป๋าตามหลังรัฐมนตรี แกก็วางฟอร์มใหญ่โตคับฟ้าได้
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า คนที่หยิ่งเพราะชาติ หยิ่งเพราะโคตร หยิ่งเพราะทรัพย์ ดูถูกคนอื่นแม้กระทั่งญาติของตนก็ไม่เว้น ย่อมประสบหายนะ ดุจเดียวกับพวกศากยะพระประยูรญาติของพระองค์
พวกศากยะพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีทิฐิมานะสูง ถือตัวว่ามีสายเลือดบริสุทธิ์ ไม่ยอมให้สายเลือดระคนปนกับคนต่างเผ่าพันธุ์ จึงแต่งงานกันเองระหว่างพี่น้อง
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารหลังจากตรัสรู้ไม่นานและได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น พระพุทธบิดาทรงส่งคณะทูตไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตั้งหลายครั้ง พระองค์ก็มิได้เสด็จจนกระทั่งสุดท้ายส่งกาฬุทายีอำมาตย์ไป พระพุทธองค์จึงทรงรับอาราธนา
ผู้แต่งพุทธประวัติตอนนี้เล่าว่า คณะทูตที่ไปพอได้ฟังพระธรรมเทศนาก็เลื่อมใสกราบทูลขอบวช ลืมคำสั่งพระเจ้าสุทโธทนะหมดสิ้น นั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่ง
เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะทิฐิมานะของพวกศากยะเองก็ได้ พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าพระองค์รีบเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ทันทีที่ตรัสรู้ พวกศากยะคงไม่ยอมรับ อาจแสดงความดูหมิ่นต่างๆ นานา ล่วงล้ำก้ำเกินพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ รอให้โลกยอมรับนับถือพระองค์อย่างกว้างขวางแล้วค่อยเสด็จกลับเมืองมาตุภูมิ ทิฐิมานะของพวกศากยะอาจคลายลง เมื่อทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั้นเดี๋ยวนี้มิใช่ธรรมดาแล้ว เป็นถึงพระศาสดาเอกในโลก ขนาดพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล ยังถวายตนเป็นสาวก ซึ่งก็จริงดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จไปจริงๆ พระประยูรญาติทั้งหลายก็ยอมรับพระพุทธองค์ ยอมถวายบังคมและฟังธรรมเทศนา มีบ้างบางคนที่แสดงความกระด้างกระเดื่องในตอนแรก แต่ที่สุดก็คลายทิฐิมานะ
คราวหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอยากเป็นพระญาติสนิทกับพระพุทธองค์ทางสายเลือด จึงทรงส่งคนไปขอขัตติยกัญญาจากเผ่าศากยะเพื่อภิเษกสมรส พวกศากยะไม่อยากให้สายเลือดอันบริสุทธิ์ของพวกเขาระคนกับคนต่างเผ่า จึงส่งธิดานางทาสีอันเกิดแต่เจ้ามหานามศากยะไปให้ ความลับถูกเปิดเผยในภายหลัง พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังจะยกทัพมาบดขยี้พวกศากยะอยู่พอดี พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามไว้ เกือบไปแล้วครั้งหนึ่ง
ครั้งที่สอง เจ้าชายวิฑูฑภะที่เกิดจากนางทาสีนั่นแหละ เมื่ออายุได้ประมาณ 7 ขวบได้กลับไปเยี่ยมพระเจ้าตาที่เมืองกบิลพัสดุ์ ได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากพวกญาติๆ ขนาดหนัก กระทั่งสั่งให้เอาน้ำนมมาล้างที่เจ้าชายน้อยประทับนั่ง ว่ากันว่าล้างเสนียดจัญไร ว่าอย่างนั้น ความข้อนี้รู้ถึงเจ้าชายน้อยเข้าทรงผูกพยาบาทว่า "ได้เป็นใหญ่มาเมื่อใด กูจะเอาเลือดในลำคอของพวกมันล้างตีนกูให้ได้ ตอนนี้ปล่อยให้มันเอาน้ำนมล้างที่นั่งกูไปก่อน"
ครับ บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ เมื่อเจ้าชายเติบใหญ่ขึ้นก็ได้ปฏิวัติยึดราชสมบัติจากเสด็จพ่อ ยกทัพไปหมายล้างแค้นให้สาแก่ใจ พระพุทธเจ้าเสด็จมาห้ามไว้ถึงสามครั้งสามครา ในที่สุด พระองค์พิจารณาเห็นว่ากรรมเก่าของพวกศากยะตามทันไม่สามารถห้ามได้ จึงปล่อยให้ไปตามกรรม พวกศากยะถูกกองทัพพระเจ้าวิฑูฑภะทำลายล้างจนหมดสิ้น (ที่เหลือรอดชีวิตจากสงครามคราวนั้นอาจมีบ้าง แต่ที่แน่ๆ หลังสงครามล้างโคตรครั้งนั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้พูดถึงพวกศากยะอีกเลย)
พระพุทธองค์ตรัสในภายหลังว่า พวกศากยะกระด้างเพราะชาติ โคตร และทรัพย์ ดูหมิ่นแม้กระทั่งญาติของตน จึงประสบหายนะดังที่เห็น นี่คือผลของกรรมใหม่ที่พวกศากยะกระทำในชาตินี้
ส่วนกรรมเก่านั้น พวกศากยะเคยเอายาพิษเบื่อปลาตายเกลี้ยงสระ ผลกรรมจึงตามทัน
บุญ-บาป มีจริงครับ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า เห็นๆ กันในชาตินี้มากมาย
หน้า 6
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01bud01310552§ionid=0121&day=2009-05-31